งานวิจัยในอังกฤษชี้ 'ลองโควิด' ทำเซ็กซ์เสื่อม-ผมร่วง

25 ส.ค. 2565 | 04:21 น.

งานวิจัยจากประเทศอังกฤษชี้ อาการ Long Covid (ลองโควิด) หรือ 'โควิดระยะยาว' อาจมีผลทำให้เซ็กซ์เสื่อม เกิดภาวะบกพร่องทางเพศสัมพันธ์ และผมร่วง นอกจากนี้ อาการโควิดระยะยาวที่พบบ่อย ๆ ยังได้แก่ อาการหอบ และการได้กลิ่นผิดเพี้ยน

นักวิจัยในประเทศอังกฤษเตือนว่า ภาวะผมร่วง และ การสูญเสียความรู้สึกทางเพศ ล้วนเป็นอาการที่เกี่ยวเนื่องมาจากอาการโควิดระยะยาว (ลองโควิด) ได้ด้วย โดยในการศึกษาด้านนี้ นักวิจัยทำการเปรียบเทียบผู้ป่วยเกือบครึ่งล้านคนที่หายจากการติดเชื้อโควิด-19 ก่อนกลางเดือนเมษายนปี 2021 โดยที่ไม่ได้เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล กับผู้ที่ไม่ติดเชื้อในวัย เพศ และสถานะสุขภาพใกล้เคียงกันเกือบ 2 ล้านคน

 

ผลพบว่า โดยรวมแล้ว อาการโควิดระยะยาว 62 อาการมีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับการติดเชื้อโควิด-19 (หรือชื่อเต็ม ซาร์ส-โควี-ทู) หลังจากที่ผ่านไป 12 สัปดาห์ ตามข้อมูลที่เผยแพร่อยู่ในวารสาร Nature Medicine ที่ได้รับการตีพิมพ์ออกมาเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2565

 

ทั้งนี้ อาการโควิดระยะยาวที่พบบ่อย ๆ ได้แก่ อาการหอบ การได้กลิ่นผิดเพี้ยน อาการเจ็บหน้าอกและมีไข้ นอกจากนี้ การศึกษายังพบว่า ปัญหาด้านความจำ การไม่สามารถเคลื่อนไหวหรือใช้คำสั่งที่คุ้นเคย ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ การหย่อนสมรรถภาพทางเพศ (เซ็กซ์เสื่อม) อาการประสาทหลอน และแขนขาบวม ยังเกิดขึ้นกับผู้ที่ประสบภาวะลองโควิดได้ด้วย

 

งานวิจัยในอังกฤษชี้ 'ลองโควิด' ทำเซ็กซ์เสื่อม-ผมร่วง

และเมื่อทำการเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ติดเชื้อแล้ว กลุ่มที่ติดเชื้อนั้นมีแนวโน้มที่จะประสบภาวะผมร่วงมากกว่าอีกกลุ่มถึงสี่เท่า และมีโอกาสที่จะประสบปัญหาการหลั่งยาก หรือมีความต้องการทางเพศที่ลดลงมากกว่าอีกกลุ่มถึงสองเท่าด้วย โดยนักวิจัยพบว่า โอกาสที่จะเกิดภาวะโควิดระยะยาวนั้นมีสูงมากในกลุ่มคนหนุ่มสาว ผู้หญิง และชนกลุ่มน้อย

 

สำนักข่าวเอพี ยังรายงานการทดลองอีกชิ้นหนึ่ง ศึกษาการใช้หมากฝรั่งเพื่อลดอนุภาคของไวรัสโอมิครอนในน้ำลาย โดยข้อมูลการศึกษาชิ้นนี้ระบุว่า มีการใช้หมากฝรั่งเพื่อทดลองการ "ดักจับ" อนุภาคของเชื้อไวรัสซาร์ส-โควี-ทู ในน้ำลายและได้ผลออกมาเป็นที่น่าจะเป็น “ความหวัง” สำหรับการควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ โดยนักวิจัยกำลังเตรียมทำการทดลองนี้กับมนุษย์เป็นครั้งแรกอยู่

 

รายงานของนักวิจัยในวารสาร Biomaterials ระบุว่า หมากฝรั่งดังกล่าวประกอบไปด้วยสารที่ลอกเลียนมาจากโปรตีน ACE2 (เอซทู) ที่พบบนพื้นผิวของเซลล์ ซึ่งโคโรนาไวรัสใช้เจาะเข้าไปในเซลล์และทำการแพร่เชื้อ โดยในการทดลองในห้องปฏิบัติการนั้น นักวิจัยได้ใช้ตัวอย่างน้ำลายจากผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลต้าหรือโอมิครอนมาทำการทดสอบ และพบว่า อนุภาคของไวรัสเกาะติดอยู่กับตัวรับโปรตีน ACE2 ในหมากฝรั่ง ซึ่งส่งผลให้ปริมาณเชื้อไวรัสลดลงจนถึงระดับที่ไม่สามารถตรวจพบได้

รายงานดังกล่าวเปิดเผยว่า ในการทดลองกับมนุษย์นั้น ผู้ป่วยโควิด-19 แต่ละคนจะเคี้ยวหมากฝรั่ง ACE2 ที่ทำมาจากเซลล์ผักกาดหอมวันละ 4 เม็ดเพื่อ “ดักจับไวรัส”เป็นเวลา 4 วัน ส่วนในการทดลองครั้งที่ 2 นั้น นักวิจัยจะใช้หมากฝรั่งที่ทำมาจากผงถั่วแทนเซลล์ผักกาดหอม ซึ่งผลการทดลองในห้องปฏิบัติการนั้นพบว่า ไม่เพียงจะดักจับอนุภาคซาร์ส-โควี-ทู ได้ แต่ยังรวมถึงไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ต่าง ๆ โคโรนาไวรัสชนิดอื่น ๆ ที่ทำให้เป็นไข้หวัด และไวรัสในช่องปากอื่น ๆ เช่น ฮิวแมน แพพพิลโลมาไวรัส (เอชพีวี) และไวรัสเริม ด้วย

 

นายแพทย์ เฮนรี แดเนียล (Henry Daniell) หัวหน้าทีมวิจัยจากคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัย University of Pennsylvania กล่าวว่า เนื่องจากการแพร่เชื้อทางจมูกนั้นน้อยมากเมื่อเทียบกับการติดต่อทางปาก ดังนั้น การเคี้ยวหมากฝรั่ง ACE2 และการกลืนโปรตีน ACE2 น่าจะช่วยลดการติดเชื้อ ปกป้องผู้ป่วยโควิด-19 และป้องกันการแพร่เชื้อได้