มติ คกก.โรคติดต่อแห่งชาติ ปรับลดโควิด-19 เป็นโรคเฝ้าระวังตั้งแต่ 1 ต.ค.นี้ 

08 ส.ค. 2565 | 11:00 น.

มติ คกก.โรคติดต่อแห่งชาติ เตรียมปรับลด "โควิด-19" จาก "โรคติดต่ออันตราย" เป็น "โรคเฝ้าระวัง" ตั้งแต่ 1 ต.ค.65 พร้อมไฟเขียว รพ.จัดหายารักษาผู้ป่วยเองเริ่ม 1 ก.ย.65

8 สิงหาคม 2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 6/2565 โดยมี นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมประชุม

 

นายอนุทิน กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีการหารือในประเด็นต่าง ๆ 4 เรื่องด้วยกัน ดังนี้  

 

1.เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยกเลิกชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย พ.ศ. .... และร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่อ ที่ต้องเฝ้าระวัง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... โดยได้พิจารณาปรับโรคโควิด 19 จากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของโรคในปัจจุบัน

ทั้งนี้ เมื่อคณะกรรมการวิชาการมีมติ และเสนอคณะกรรมการโรคติดต่อฯ น่าจะมีผลวันที่ 1 ต.ค.2565 เป็นต้นไป ในที่ประชุมยังมีการพูดถึงว่า ในอนาคตอันใกล้อาจมีวัคซีนโควิดรวมกับวัคซีนป้องกันไข้หวัดสายพันธุ์อื่นๆ ส่วนยาก็อาจมีเทคโนโลยีที่ดีขึ้น ย้ำว่าโควิดจากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง แต่ไม่ใช่โรคประจำถิ่น ทุกอย่างขึ้นกับคำนิยาม แต่ต้องย้ำว่า เรายังเฝ้าระวัง มีระบบรองรับทางการแพทย์เช่นเดิม และเรื่องนี้ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อประชาชน ยังรับบริการได้เช่นเดิม นายอนุทิน กล่าว

 

2.มีมติเห็นชอบกรอบนโยบายในการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคโควิด 19 ได้แก่ สามารถควบคุมการระบาดให้สถานการณ์อยู่ในระดับรุนแรงน้อย โดยพิจารณาตามจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลต่อวัน อัตราครองเตียงผู้ป่วยหนัก และผู้เสียชีวิต, สามารถเข้าถึงบริการวัคซีน ยาต้านไวรัสได้ง่ายและสะดวก และประชาชนมีพฤติกรรมป้องกันตนเองอย่างถูกต้องเหมาะสม

 

ส่วนแนวทางปฏิบัติ แบ่งเป็น ด้านต่าง ๆ ประกอบด้วย 

 

ด้านกฎหมาย

  • ปรับสถานะโรคโควิด19 ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์

ด้านการแพทย์

  • ปรับแนวทางแยกกักผู้ป่วย สถานพยาบาลเอกชน และคลินิก สามารถจัดหายาต้านไวรัสเพื่อให้บริการ

ด้านสาธารณสุข

  • ปรับระบบรายงานโรคและกักกันผู้สัมผัส

ด้านการสื่อสารสังคม

  • สร้างความรู้ความเข้าใจประโยชน์ของวัคซีน การจัดการเมื่อมีผู้ติดเชื้อ ในครอบครัว มาตรการบุคคลและองค์กร

 

ทั้งนี้ เพื่อให้การบริหารจัดการหลังการระบาดใหญ่ (Post Pandemic) มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และการบริหารยา วัคซีน เวชภัณฑ์ ซึ่งได้สื่อสารให้โรงพยาบาลในสังกัดต่างๆ เตรียมการจัดหายาต้านไวรัสเอง ซึ่งจะเริ่มดำเนินการได้ในเร็วๆ นี้ โดยใช้กระบวนการเบิกค่ารักษาพยาบาลจากกองทุนเช่นเดียวกับโรคติดเชื้ออื่น ๆ เพื่อให้ประชาชนยังสามารถเข้ารับการรักษาได้ตามสิทธิ์ 

 

3.รับทราบสถานการณ์ และการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19 ซึ่งพบแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น และประชาชนเริ่มมีความรู้ ความเข้าใจในการดูแลรักษา อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขยังคงเน้นให้ทุกจังหวัดเตรียมพร้อมเรื่องเตียง การใช้ยาอย่างเหมาะสม และการฉีดวัคซีน รวมถึงให้โรงพยาบาลพิจารณาการใช้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (Long Acting Antibody : LAAB) ซึ่งกระจายไปยังจังหวัดต่าง ๆ และกรุงเทพมหานครแล้ว

 

4.โรคฝีดาษวานร ปัจจุบันพบผู้ป่วยยืนยันในประเทศไทยแล้ว 4 ราย ซึ่งประเทศไทยได้มีการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด ทั้งที่สนามบิน สถานพยาบาล ชุมชนแหล่ง ท่องเที่ยว โดยได้มีการสั่งวัคซีนป้องกันฝีดาษมาใช้สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ผู้ปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการทางการแพทย์  แบบ pre-exposure prophylaxis และ ผู้มีความเสี่ยงสูงสัมผัสผู้ป่วยแบบ post-exposure prophylaxis