ภาวะ MIS-C ในเด็ก รักษาได้ไหม อาการคล้ายโรคคาวาซากิอย่างไร

25 ก.ค. 2565 | 22:00 น.

ภาวะ MIS-C ในผู้ป่วยเด็กที่ติดโควิด สามารถรักษาให้หายได้ไหม มีอาการคล้ายกับ "โรคคาวาซากิ" อย่างไรบ้าง เช็คเลย

ภาวะ MIS-C  ในเด็ก กลุ่มอาการอุบัติใหม่ที่พบในเด็กซึ่งร่างกายมีการอักเสบหลายระบบหลังจากมีการติดเชื้อโควิด สาเหตุเกิดจากการตอบสนองของภูมิคุ้มกันในร่างกายต่อเชื้อไวรัสนี้ที่มากเกินไป ทำให้เกิดความผิดปกติของร่างกายหลายระบบตามมา ภาวะนี้พบได้ในเด็กทุกกลุ่มอายุ อุบัติการณ์ประมาณร้อยละ 0.03 ของผู้ป่วยเด็กที่เป็นโควิด

ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ผื่น ตาแดง อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลว อาจมีภาวะช็อคที่เกิดจากการอักเสบที่หัวใจ หรือหลอดเลือดหัวใจโป่งพองซึ่งเป็นอันตรายถึงเสียชีวิตได้ ร่วมกับการตรวจพบเชื้อหรือภูมิคุ้มกันหรือประวัติสัมผัสเชื้อโควิด

 

การอักเสบของหัวใจพบได้ร้อยละ 30 อาจมีอาการรุนแรงจนจำเป็นต้องรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤต ในประเทศไทยพบผู้ป่วย MIS-C แล้วมากกว่า 100 ราย ทั่วประเทศ ภาวะนี้ควรได้รับการรักษาด้วยอิมมูโนโกลบูลินและยากดภูมิคุ้นกัน

นพ.อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมีการพบผู้ป่วย MIS-C จำนวน 51 ราย อายุตั้งแต่ 9 เดือน - 11 ปี อายุเฉลี่ย 4.8 ปี ผู้ป่วยมักมาด้วยไข้ ผื่น และ อาการทางระบบทางเดินอาหารร่วมด้วย

 

ในเด็กเล็กมักมีอาการตาแดง ปากแดง มือเท้าบวม คล้ายโรคคาวาซากิ การตรวจเลือดจะพบค่าการอักเสบที่เพิ่มขึ้นผิดปกติ ผู้ป่วยร้อยละ 27 มีภาวะช็อค จำเป็นต้องให้การรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤต ผู้ป่วยบางคนมีเส้นเลือดหัวใจโป่งพองคล้ายกับ "โรคคาวาซากิ"

 

ซึ่งเป็นโรคที่ทำให้เกิดการอักเสบของผนังหลอดเลือดแดงในร่างกาย รวมไปถึงหลอดเลือดหัวใจ Coronary Arteries ซึ่งมีหน้าที่นำเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจด้วย และยังส่งผลให้เกิดการอักเสบของต่อมน้ำเหลือง ผิวหนัง และเยื่อบุในปาก จมูก และลำคอ มักพบในเด็กอายุต่ำกว่า  5 ปี สาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัด แต่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเป็นโรคไม่ติดต่อ และจากงานวิจัยในปัจจุบันชี้ว่าอาจเกิดได้จากทั้งไวรัส แบคทีเรีย ปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ที่ไปกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาทางระบบภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ

 

ภาวะ MIS-C  ในเด็ก รักษาได้ไหม

  • ผู้ป่วยเกือบทั้งหมดมีการตอบสนองต่อการรักษาดี
  • การทำงานของหัวใจกลับมาทำงานเป็นปกติร้อยละ 90
  • ระยะเวลาที่รักษาในหอผู้ป่วยวิกฤตขึ้นกับความรุนแรงและการตอบสนองต่อการรักษา
  • ในสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี พบการเสียชีวิตจากภาวะนี้จากเส้นเลือดหัวใจโป่งพอง 1 ราย การวินิจฉัยและการรักษาที่ทันท่วงทีจะช่วยชีวิตผู้ป่วยโรคนี้และลดภาวะแทรกซ้อนได้