การประกาศนโยบายขยายธุรกิจไลฟ์สไตล์ในกลุ่ม “เฮลท์แอนด์บิวตี้ รีเทล” หนึ่งในเมกะเทรนด์โลก พร้อมกับเปิดตัว “found & found” ร้านค้าปลีกด้านสินค้าสุขภาพและความงาม อย่างเป็นทางการ 3 สาขารวด ในพีทีที สเตชั่นและคอมมูนิตี้มอลล์ ด้วยคอนเซปต์ “SIMPLE. EASY. EVERYSKIN.” ในกลางปี 2567 ถือเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของ “OR” ที่ต้องการเดินหน้าขยายธุรกิจ non-oil ล่าสุด “โออาร์” ประกาศสยายปีกรุกตลาดสุขภาพและความงามเต็มที่ เพื่อพิชิตเป้าหมาย 500 สาขา ภายใน 5 ปีนับจากนี้
นายณัฐพล ชูจิตารมย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โออาร์ เฮลท์ แอนด์ เวลเนส จำกัด (ORHW) ในกลุ่ม บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)หรือOR ผู้บริหารร้านค้าปลีกด้านสินค้าสุขภาพและความงาม ภายใต้แบรนด์ “found & found” เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจุบันตลาดสุขภาพและความงามมีศักยภาพสูง เป็นตลาดขนาดใหญ่มีมูลค่ากว่า 3.5 แสนล้านบาท แนวโน้มการเติบโตและขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเฉลี่ย 9% ต่อปี จากพฤติกรรมผู้บริโภคของผู้บริโภคทุกเพศทุกวัย ที่หันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพและความงามมากขึ้น, การดูแลตนเองหลังโควิด-19 ตลอดจนการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
ดังนั้น OR จึงเดินหน้าธุรกิจ “found & found” ร้านค้าปลีกสุขภาพและความงาม ที่เน้นสินค้าจากไทย ญี่ปุ่นและเกาหลี ด้วยคอนเซ็ปต์ “Simple Easy Everyskin : ดูดี เฮลตี้ ที่นี่ทุกวัน” โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้บริโภค ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของลูกค้า เพิ่มการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ บริการด้านสุขภาพและความงามให้กับผู้บริโภคชาวไทย เป็นก้าวสำคัญในการขยายธุรกิจจากพลังงานและการเดินทางไปสู่ non-oil platform แบบครบวงจร
“ในตลาดสุขภาพและความงามการแข่งขันค่อนข้างดุเดือด เราเป็นผู้เล่นน้องใหม่ในตลาด อายุแบรนด์ยังไม่ครบ 1 ปี ฉะนั้นจะต้องศึกษาตลาดและสร้างตัวเราให้มีความแตกต่าง เป้าหมายของเราคือเพิ่มการเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการด้านสุขภาพและความงาม ที่มีคุณภาพและราคาเหมาะสมกับผู้บริโภคชาวไทย เช่น ร้านค้าปลีกสุขภาพและความงาม ร้านขายยา คลินิก การผลิตสินค้า การจัดจำหน่าย และอื่นๆ มอบทางเลือกที่หลากหลายและเข้าถึงง่ายขึ้นให้กับลูกค้า”
ปัจจุบัน found & found เปิดให้บริการแล้ว 8 สาขา แบ่งเป็นในกรุงเทพฯ 7 สาขาและระยอง 1 สาขา และเตรียมเปิดเพิ่มอีก 4 สาขา ในพื้นที่กรุงเทพฯ เพชรบุรี และพระนครศรีอยุธยา โดยจะมีสาขารวม 12 สาขาภายในเดือนมิถุนายน 2568 และตั้งเป้าหมายที่จะขยายเพิ่มเป็น 50 สาขาในปี 2569 และในระยะยาวตั้งเป้าหมายที่จะมี 500 สาขา ภายในปี 2573
นายณัฐพล กล่าวว่า แผนธุรกิจในปี 2568 ยังมุ่งสร้างความแตกต่างของ found & found จากร้านค้าสุขภาพและความงามอื่นๆ ด้วยการเน้นความสะดวกสบายและการเข้าถึงที่ง่าย (Accessibility & Convenience) ให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงามได้ทุกที่ทุกเวลา ผ่านช่องทางที่หลากหลายทั้งในและนอกสถานีบริการน้ำมัน PTT Station เน้นผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์จากพันธมิตรระดับโลก (Unique Products from Strategic Partners) 7 แบรนด์ดัง ทั้งจากเกาหลีใต้ Exclusive brand คุณภาพจาก Sugi Pharmacy ญี่ปุ่น รวมทั้งแบรนด์อื่นๆ ทั้งของไทยและประเทศอื่นๆ เกือบ 500 แบรนด์ รวมสินค้ากว่า 5,000 รายการ ด้วยบริการจาก Beauty Advisor (Personalized Service) โดยผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพและความงามที่พร้อมให้คำแนะนำแบบเฉพาะบุคคล
นอกจากนี้ ยังนำจุดแข็งของ OR มาใช้ร่วมกับ found & found ด้วยข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับลูกค้า (Customer Data Insights) และ CRM - Blueplus+ ซึ่งมีฐานข้อมูลจาก OR ที่สามารถวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคในเชิงลึกตรงกับความต้องการของลูกค้า พร้อมแพลตฟอร์มค้าปลีกออฟไลน์ (Physical Platform) ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของลูกค้า และในอนาคตจะเชื่อมต่อระหว่างออฟไลน์และออนไลน์ (Omnichannel) ทำให้ลูกค้าเลือกซื้อสินค้าได้ทุกที่ทุกเวลา
ทั้งยังจับมือกับพันธมิตรเพื่อขยายธุรกิจให้เติบโตอย่างรวดเร็วในอนาคต (dealers / franchise) ด้วยเป้าหมายที่จะทำให้ found & found เป็นแบรนด์ค้าปลีกด้านสุขภาพและความงามที่เข้าถึงได้ง่าย และเติบโตอย่างมั่นคงในระยะยาว
โดนกลุ่มลูกค้าหลักของ found & found หลัก คือ กลุ่ม masstige (สินค้าคุณภาพ ในราคาเข้าถึงได้) ทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะกลุ่มคนทำงาน และวัยรุ่น รวมถึงผู้สูงอายุบางรายที่นิยมสินค้าประเภทวิตามิน ใน 1 คนจะเข้ามาซื้อสินค้าเฉลี่ย 2-3 ชิ้น ส่วนใหญ่จะเป็นแบรนด์ดังจากเกาหลีและญี่ปุ่นที่ไม่สามารถหาได้ง่ายในตลาด
“ลูกค้า found & found ไม่ได้มีเฉพาะคนไทย แต่มีชาวต่างชาติหลากหลายตามทำเลแต่ละสาขา โดยยังคงอยู่ในออฟไลน์เป็นหลักมากกว่า 90% โดยเฉพาะสินค้าที่จำเป็นต้องทดสอบด้วยตัวเองอย่าง คอสเมติกส์ สกินแคร์ ที่มีสัดส่วนการขายอยู่มากถึง 80% จากสินค้าทั้งหมด ซึ่งธุรกิจของ OR สิ่งสำคัญคือความไว้วางใจจากผู้บริโภค ส่วนการขายผ่านออนไลน์จึงเพิ่งเริ่มได้เพียง 1 เดือน และอยู่ในกลุ่มลูกค้าที่ซื้อซ้ำ ขณะเดียวกันผู้บริโภคก็ต้องระมัดระวังการซื้อสินค้าจากแพลตฟอร์มออนไลน์ด้วย เช่น สินค้าปลอม สินค้าหมดอายุ ซึ่งมักจะมีราคาถูกดึงดูดการซื้อได้ดี
“จุดแข็งของเราคือ 1.การเข้าถึงลูกค้าที่ง่ายและสะดวก สามารถเดินทางเข้ามาที่สถานีบริการพบกับร้านค้าเราได้ง่าย 2.พาร์ทเนอร์ที่แข็งแกร่งกับทางญี่ปุ่นและเกาหลี 3.ความพึงพอใจของลูกค้า ที่สามารถเลือกซื้อสินค้าได้มากขึ้นและ 4.ตอบโจทย์ของลูกค้าและสินค้ามีความทันสมัย ทันแกระแส แตกต่างจากที่อื่น หาซื้อได้ยากในไทย”
อย่างไรก็ตาม OR ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาเพื่อหาโมเดลนำมาใช้กับธุรกิจอื่นๆ ของ OR ในอนาคต โดยเทรนด์ตลาดสุขภาพและความงาม หรือธุรกิจที่เกี่ยวกับ Health & Wellness เป็นธุรกิจที่ทุกประเทศให้การสนับสนุนไม่เพียงเฉพาะรัฐบาลไทยเท่านั้น เพราะคนทั่วโลกเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้น ซึ่งภาครัฐของไทยต้องตามเทรนด์ให้ทัน เช่น วัตถุดิบสินค้าบางอย่าง ที่มีขายทั่วไปในต่างประเทศแต่ประเทศไทยยังไม่สามารถนำเข้ามาได้ เพราะไม่เคยมีใครนำเข้ามาและเป็นของใหม่ที่ไทยไม่เคยมี ซึ่งหลายอย่างล้วนมีประโยชน์ต่อผู้บริโภค แต่ไทยตามไม่ทันจนเสียโอกาส