อาการ “ไม่อยากทำงานหลังสงกรานต์” เป็นหนึ่งในภาวะที่หลายคนอาจประสบปัญหานี้อยู่ และไม่ใช่โรคทางการแพทย์ แต่เป็นอาการทางจิตวิทยาที่ใกล้เคียงกับ Post-Holiday Blues หรือ “ภาวะซึมเศร้าหลังวันหยุดยาว” เมื่อผ่านช่วงเวลาวันหยุดยาว เทศกาล หรือช่วงพักผ่อนที่สนุกสนาน เช่น ปีใหม่ สงกรานต์ หรือวันหยุดพักร้อน แล้วต้องกลับเข้าสู่สภาพแวดล้อมเดิม เช่น การทำงาน การเรียน หรือความรับผิดชอบในชีวิตประจำวัน
สาเหตุของ Post-Holiday Blues
- เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมและกิจวัตรกะทันหัน
- มีความคาดหวังสูงในช่วงวันหยุด แล้วกลับมาเจอความจริงที่ต่างออกไป
- เหนื่อยล้าทางร่างกายจากการท่องเที่ยว ดื่มสังสรรค์ หรือเดินทางไกล
- “คิดถึงวันหยุด” โดยเฉพาะเมื่อกลับเข้าสู่สภาพแวดล้อมที่เคร่งเครียด
อาการที่พบบ่อย
- รู้สึกเศร้า เบื่อหน่าย หรือหมดแรง
- ขาดแรงจูงใจในการทำงาน
- นอนไม่หลับ หรือหลับไม่สนิท
- รู้สึกวิตกกังวลหรือหงุดหงิดง่าย
สำหรับการกลับสู่ชีวิตประจำวัน มีหลายวิธี สามารถเลือกใช้เพื่อจัดการกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งจะทำให้การปรับตัวกลับสู่ชีวิตประจำวันนั้นง่ายขึ้น ดังนี้
วิธีฟื้นฟูจิตใจหลังภาวะซึมเศร้า
- การยอมรับความรู้สึก การยอมรับว่าความเศร้านั้นเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการปรับตัว ซึ่งการยินดีและยินยอมที่จะเศร้าโดยการปลดปล่อยมันออกมา เช่น การร้องไห้ จะช่วยให้เราสามารถจัดการกับอารมณ์ได้ดีขึ้น
- สร้างกิจกรรมใหม่ วางแผนทำกิจกรรมที่สนุกสนานหรือท่องเที่ยวในช่วงสุดสัปดาห์ เพื่อสร้างความตื่นเต้นในชีวิตประจำวัน เช่น การไปเดินป่า การเข้าคอร์สเรียนใหม่ หรือแม้แต่การลองทำอาหารใหม่ๆ
- แชร์ประสบการณ์ การได้พูดคุยเกี่ยวกับประสบการณ์วันหยุดกับเพื่อนหรือครอบครัว สามารถช่วยลดความรู้สึกเหงาและเศร้าได้ หรือลองสร้างอัลบั้มภาพ หรือวิดีโอเพื่อแบ่งปันความทรงจำที่ดีเหล่านั้นกับคนอื่นก็เป็นสิ่งที่ช่วยได้มากเช่นกัน
- ฝึก Mindfulness หรือการทำสมาธิเพื่อฝึกสติ ช่วยให้คุณอยู่กับปัจจุบันและลดความวิตกกังวล เช่น ลองใช้แอปพลิเคชันสำหรับการทำสมาธิเพื่อช่วยในการฝึกฝน
- วางแผนทริปใหม่ การมีสิ่งที่ต้องรอคอย เช่น การวางแผนทริปเที่ยวครั้งถัดไป สามารถช่วยเพิ่มแรงบันดาลใจและลดความเครียดได้ โดยอาจเริ่มต้นจากการสำรวจสถานที่หรือจองตั๋วเครื่องบินสำหรับทริปในอนาคต
อย่างไรก็ตาม Post-Vacation Blues หรืออาการซึมเศร้าหลังเที่ยว เป็นภาวะที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ส่งผลต่ออารมณ์และพฤติกรรม การเข้าใจถึงสาเหตุและนำวิธีการจัดการที่ถูกต้องมาปรับใช้ จะช่ววฟื้นฟูจิตใจและกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุขดังเดิม หากเวลาผ่านไปแล้วพบว่าความรู้สึกเหล่านี้ยังคงอยู่ ควรพิจารณาปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตเพื่อรับคำแนะนำเพิ่มเติมอย่างเหมาะสมต่อไป
ข้อมูลจาก โรงพยาบาลวิมุต และกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข