วันนี้ 8 เมษายน 2568 จากการตรวจวัดการปนเปื้อนโลหะหนักแม่น้ำกก ในพื้นที่ ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ตั้งแต่บริเวณชายแดนไทย-พม่า จนถึงก่อนเข้าเขตจังหวัดเชียงราย พบสารหนู(As) เกินค่ามาตรฐานคุณภาพน้ำผิวดิน และบริเวณชายแดนไทย- พม่า ยังพบค่าตะกั่ว (Pb) มีค่าเกินมาตรฐาน นั้น
นายอาวีระ ภัคมาตร์ ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 (สคพ.1/เชียงใหม่) กรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยว่า ผลการตรวจคุณภาพน้ำแม่น้ำกก (แหล่งน้ำประเภทที่ 2 ได้รับน้ำทิ้งจากกิจกรรมบางประเภท ใช้ประโยชน์เพื่อการอนุรักษ์สัตว์น้ำ การประมง การว่ายน้ำ และกีฬาทางน้ำ) อยู่ในเกณฑ์ “เสื่อมโทรม” ทั้ง 3 จุด จากพารามิเตอร์ที่สำคัญมีค่าเกินมาตรฐาน ดังนี้
1. พารามิเตอร์ที่ส่งผลต่อคุณภาพน้ำ โดยมีค่าเกินมาตรฐาน ได้แก่ ความสกปรกในรูปสารอินทรีย์ (BOD) การปนเปื้อนของแบคทีเรียกลุ่มโคลิฟอร์มทั้งหมด (TCB) ฟีคอลโคลิฟอร์มแบคทีเรีย (FCB) เกินทั้ง 3 จุด ซึ่งแสดงถึงแหล่งน้ำมีความสกปรกในรูปสารอินทรีย์สูง และการปล่อยน้ำเสียจากแหล่งชุมชนจากกิจกรรมต่างๆ โดยไม่ได้ผ่านการบำบัดลงสู่แหล่งน้ำ มีการปนเปื้อนจากอุจจาระของสัตว์เลือดอุ่น รวมถึงแอมโมเนีย (NH3) สูงเกินมาตรฐาน บริเวณจุดเก็บแม่อาย 03 เกิดจากการย่อยสลายของโปรตีนซากพืชซากสัตว์ในแหล่งน้ำ
2. ค่าความขุ่นสูง โดยเฉพาะจุดแรกที่ติดชายแดนไทย-พม่า คือ 988 NTU รวมทั้งจุดที่ 2 และจุดที่ 3 คือ 171, 139 NTU ตามลำดับ ซึ่งแหล่งน้ำโดยทั่วไปไม่ควรมีค่าเกิน 100 NTU (1 NTU = 1มิลลิกรัม ของความขุ่น (formazin) ในน้ำ 1ลิตร) เพราะอาจจะส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพของสัตว์น้ำและพืชน้ำ
3. โลหะหนัก พบพารามิเตอร์ที่เกินมาตรฐาน ได้แก่ ตะกั่ว (Pb) และ สารหนู (As) ดังนี้
สคพ.1 ได้แจ้งผลการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่หลีกเลี่ยงการอุปโภค บริโภค หรือการลงสัมผัสน้ำโดยตรงในแม่น้ำกก การนำน้ำมาเพื่อการประปาจะต้องตรวจสอบประสิทธิภาพระบบ และตรวจสอบคุณภาพน้ำประปาอย่างสม่ำเสมอ และให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านสุขภาพอนามัย ด้านคุณภาพน้ำ ด้านอาหาร การประมง ดำเนินการตรวจสอบและหามาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาในระยะยาวต่อไป นายอาวีระ กล่าว