กรมควบคุมมลพิษเปิดรับฟังความเห็น ร่างพ.ร.บ. “ รักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม

24 ก.ย. 2565 | 06:10 น.

คพ.เปิดเฮียริ่ง ร่างพ.ร.บ. "ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ -การเรียกเก็บเงินจากผู้ปล่อยมลพิษ" ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 7 ตุลาคม 2565

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า จากการออกพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 เพื่อประโยชน์ในการป้องกันมลพิษและความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของบุคคล

 

ตลอดจนเพื่อให้เกิดการส่งเสริม รักษา คุ้มครอง ฟื้นฟูและเยียวยาคุณภาพสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งให้ประชาชนเข้าใจและตระหนักถึงคุณค่าถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561

 

แต่ยังมีบทบัญญัติบางประการที่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน กลไกและมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม การควบคุมมลพิษ และความรับผิดทางแพ่งภายใต้กฎหมายปัจจุบันไม่เพียงพอในการแก้ไขปัญหาด้านมลพิษและสิ่งแวดล้อมซึ่งทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งทุกภาคส่วนเห็นสมควรปรับปรุงบทบัญญัติดังกล่าว

 

นายอรรถพล กล่าวว่า การปรับปรุงปรับปรุงพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. .....(ใหม่) จะสอดคล้องกับหลักกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ ได้แก่ หลักการระวังล่วงหน้า หลักการป้องกันไว้ก่อน หลักผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย และ

 

หลักความโปร่งใสและการมีส่วนร่วม และเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้ประชาชนและชุมชนได้มีส่วนร่วมกับภาครัฐในการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

 

รวมทั้งขยายขอบเขตการใช้บังคับพระราชบัญญัตินี้ให้สอดคล้องกับความตกลงระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีพันธะผูกพันกับการป้องกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ โดยที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการเพื่อปรับปรุงพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535

 

และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาก่อนดำเนินการต่อไป ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 7) ได้ตรวจพิจารณาร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. .... เสร็จแล้ว

 

ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่บัญญัติให้ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง

 

วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน

 

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา รับฟังความคิดเห็นในสองส่วนประกอบด้วย

1. ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. .....

 

2. หลักการเกี่ยวกับการเรียกเก็บเงินจากผู้ปล่อยหรือระบายมลพิษเพื่อชดเชยความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อม

 

ทั้งนี้ สามารถร่วมแสดงความคิดเห็นได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 7 ตุลาคม 2565 โดยร่วมแสดงความคิดเห็นได้ที่ https://shorturl.asia/Px6dw นายอรรถพล กล่าว