เตือน 14 จังหวัด เตรียมรับมือระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น ช่วง 31 ส.ค.-10 ก.ย.นี้

31 ส.ค. 2565 | 02:07 น.

ปภ.แจ้ง 14 จังหวัดเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ เตรียมรับมือระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น ในช่วงวันที่ 31 ส.ค. – 10 ก.ย. 65 เตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำที่ลุ่มต่ำ และพื้นที่ด้านท้ายน้ำ เตรียมพร้อมรับมือระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น

เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 65  เวลา 20.30 น. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แจ้ง 14 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ พิษณุโลก สกลนคร ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ยโสธร ร้อยเอ็ด นครราชสีมา ศรีสะเกษ อุบลราชธานี นครนายก และปราจีนบุรี เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในลำน้ำและแม่น้ำเพิ่มสูงขึ้น ระหว่างวันที่ 31 ส.ค. – 10 ก.ย. 65

 

พร้อมแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำที่ลุ่มต่ำ และพื้นที่ด้านท้ายน้ำ เตรียมพร้อมรับมือระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงประสานท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบแนวคันกั้นน้ำ จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย และเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์ และเตรียมความพร้อมปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.)ได้ติดตามข้อมูลสถานการณ์น้ำท่าและปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ ประกอบกับกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้มีประกาศฉบับที่ 34/2565 ลงวันที่ 30 สิงหาคม 2565 แจ้งว่า ระดับน้ำในแม่น้ำมูล บริเวณอำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ท้ายจุดบรรจบระหว่างแม่น้ำชีและแม่น้ำมูลเพิ่มสูงขึ้น

 

ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าในวันที่ 3 - 8 กันยายน 2565 บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง จะมีฝนเพิ่มขึ้นและฝนตกหนัก รวมถึงจากการประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) มีพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์ระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม – 10 กันยายน 2565 ดังนี้

พื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำระดับน้ำท่วมขังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 0.30 – 0.50 เมตร

 

1.พื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำระดับน้ำท่วมขังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 0.30 – 0.50 เมตร

 

1.1 ลุ่มน้ำชี

- ลำน้ำพรมและลำน้ำเชิญ บริเวณจังหวัดชัยภูมิ (อำเภอคอนสาร ภูเขียว และบ้านแท่น)

- แม่น้ำชีและลำน้ำพอง บริเวณจังหวัดขอนแก่น (อำเภอแวงน้อย แวงใหญ่ โคกโพธิ์ไชย ชนบท มัญจาคีรี บ้านไผ่ บ้านแฮด พระยืน และเมืองฯ) มหาสารคาม (อำเภอโกสุมพิสัย เชียงยืน กันทรวิชัย และเมืองฯ) กาฬสินธุ์ (อำเภอฆ้องชัย กมลาไสย และร่องคำ) ร้อยเอ็ด (อำเภอจังหาร และเชียงขวัญ) และยโสธร (อำเภอเมืองฯ คำเขื่อนแก้ว มหาชนะชัย และค้อวัง)

- ลำน้ำยัง บริเวณจังหวัดกาฬสินธุ์ (อำเภอเขาวง นาคู และกุฉินารายณ์) ร้อยเอ็ด (อำเภอโพนทอง และเสลภูมิ)

 

1.2 ลุ่มน้ำมูล

- แม่น้ำมูล บริเวณจังหวัดนครราชสีมา (อำเภอแก้งสนามนาง) ศรีสะเกษ (อำเภอราษีไศล ยางชุมน้อย และกันทรารมย์) และอุบลราชธานี (อำเภอวารินชำราบ และเมืองฯ)

- ลำโดมใหญ่ บริเวณจังหวัดอุบลราชธานี (อำเภอนาจะหลวย เดชอุดม และนาเยีย)

- ลำเซบก บริเวณจังหวัดอุบลราชธานี (อำเภอตระการพืชผล และดอนมดแดง)

 

2. พื้นที่เฝ้าระวังแหล่งน้ำและอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาตรน้ำมากเกินเกณฑ์ควบคุม จำนวน ๖ แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล จังหวัดเชียงใหม่ อ่างเก็บน้ำแควน้อยบำรุงแดน จังหวัดพิษณุโลก อ่างเก็บน้ำน้ำพุง จังหวัดสกลนคร อ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น อ่างเก็บน้ำขุนด่านปราการชล จังหวัดนครนายก อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา จังหวัดปราจีนบุรี รวมทั้งอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กและขนาดกลางที่มีปริมาตรน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่ด้านท้ายน้ำทั่วประเทศ

 

กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) จึงได้ประสาน 14 จังหวัด ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานในพื้นที่จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตรในช่วง 24 ชั่วโมง และจุดเสี่ยงน้ำท่วมขัง

 

พร้อมตรวจสอบและซ่อมแซมคันกั้นน้ำริมแม่น้ำให้มั่นคงแข็งแรง และกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ รวมถึงปรับแผนการระบายน้ำจากเขื่อนและประตูระบายน้ำเพื่อพร่องน้ำ บริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำให้เป็นแก้มลิงหน่วงน้ำ เร่งระบายน้ำในลำน้ำ แม่น้ำ เพื่อรองรับน้ำหลากจากพื้นที่ต้นน้ำ อีกทั้งแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ เฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น ตลอดจนจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย และเจ้าหน้าที่ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ และเตรียมความพร้อมปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง