เมฆอาร์คัสคืออะไร เกิดขึ้นได้ยังไง อันตรายแค่ไหน เช็คเลย

30 ส.ค. 2565 | 02:13 น.

เมฆอาร์คัสคืออะไร เกิดขึ้นได้ยังไง อันตรายแค่ไหน เช็คเลยที่นี่มีคำตอบ หลังเกิดปรากฏการณ์เมฆลอยต่ำ และท้องฟ้ามืดเหมือนยามค่ำคืน

เมฆอาร์คัสคืออะไร เกิดจากอะไร เป็นคำถามที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก หลังจากที่เกิดปรากฏการณ์เมฆลอยต่ำ และท้องฟ้ามืดเหมือนยามค่ำคืนเมื่อช่วงเช้าวันที่ 29 ส.ค. 65 ที่ผ่านมา

 

ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้ดำเนินการสืบค้นข้อมูลเรื่องดังกล่าว เพื่อคลายข้อสงสัยให้ได้รับทราบกัน พบว่า

 

"เมฆอาร์คัส" หรือ เมฆกันชน ซึ่งเป็นปรากฎการณ์หนึ่งก่อนเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง   

 

"เมฆอาร์คัส" (Arcus Cloud) เป็นปฏิกิริยาหนึ่งของ เมฆพายุฝนฟ้าคะนอง (CB) ซึ่งเป็น เมฆชั้นต่ำที่ก่อตัวในแนวระนาบ มีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภท ได้แก่ 

 

  • Shelf Cloud เป็น เมฆ ชั้นต่ำตระกลูเดียวกับ Stratocumulus (SC) ซึ่งจะก่อตัวในแนวระนาบ ลักษณะเป็นลิ่มยื่นออกมาจากเมฆพายุฝนฟ้าคะนอง (CB) โดยที่อากาศเย็นจะไหลลงมาจากเมฆพายุฝนฟ้าคะนอง และแผ่กระจายไปโดยรอบบริเวณผิวพื้น ซึ่งแนวหน้าของลมที่ไหลลงมานั้นจะเรียกว่า Gust Front อากาศเย็นที่ไหลลงมานี้จะทำให้อากาศที่อุ่นกว่าบริเวณผิวพื้นซึ่งมีความหนาแน่นน้อยกว่าไหลขึ้นไป แล้วเกิดการกลั่นตัวเป็น เมฆ ที่มีลักษณะคล้ายชั้นวางสิ่งของที่ยื่นมาจากเมฆก่อนใหญ่ จึงเรียกอาร์คัสประเภทนี้ว่า Shelf Cloud นั่นเอง
  • Roll Cloud เป็นเมฆชั้นต่ำตระกลูเดียวกับ Stratocumulus (SC) และก่อตัวในแนวระนาบเช่นเดียวกัน มีลักษณะเหมือนทรงกระบอกขนาดใหญ่ อาจยาวได้หลายกิโลเมตร สิ่งที่แตกต่างจาก Shelf Cloud คือ Roll Cloud นั้นจะไม่อยู่ติดกับเมฆชนิดอื่น จะเคลื่อนตัวออกไปจากเมฆพายุฝนฟ้าคะนอง(CB) เกิดจาก Gust Front ที่สามารถทำให้อากาศบริเวณผิวพื้นเกิดการหมุนวน โดยที่อากาศอุ่นบริเวณผิวพื้นด้านหน้าถูกทำให้ไหลขึ้นไปด้านบนจากอากาศเย็นที่ไหลลงมาด้านหลัง แล้วเกิดการกลั่นตัวเป็นเมฆก้อนใหม่ มีลักษณะม้วนตัวนั่นเอง แต่การม้วนตัวของเจ้าเมฆทรงกระบอกนี้ จะดูตรงข้ามกับการเคลื่อนที่ของมันเสมอ

 

อย่างไรก็ดี ต้องเรียนว่า เมฆอาร์คัส ไม่มีอันตรายโดยตรง แต่เนื่องจากอาร์คัสเป็นส่วนหนึ่งของ เมฆฝนฟ้าคะนอง จึงมีความเสี่ยงจากฟ้าผ่าแฝงอยู่ โดยเฉพาะฟ้าผ่าแบบบวก (positive lighting) ซึ่งสามารถผ่าออกมาไกลจากตัวเมฆได้หลายกิโลเมตร อย่างไรก็ตาม บริเวณฐานกลุ่มเมฆจะเป็นลมกด ซึ่ง ปรากฏการณ์อาร์คัส ก็ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างง่าย 

 

เมฆอาร์คัสคืออะไร เกิดขึ้นได้ยังไง

 

สำหรับปรากฎการณ์ "เมฆอาร์คัส" เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยมาแล้ว 3 ครั้ง ประกอบด้วย

 

  • ครั้งแรก เกิดขึ้นเมื่อปี 2554 ที่บริเวณ  บางขุนเทียน และคลองสาน 

 

  • ครั้งที่สอง เกิดขึ้นเมื่อปี 2557 ที่สนามบินอุดรธานี และในเวลาไม่นานก็เกิด ปรากฏการณ์เมฆอาร์คัส เหนือท้องฟ้าบริเวณสนามบินเก่า เขตเทศบาลเมืองเชียงราย อีกครั้ง

อย่างไรก็ดี  กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ชี้แจงว่า เมื่อเช้าวันที่  29 สิงหาคม 2565 ได้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองบริเวณภาคตะวันออก กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งเกิดจากลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทำให้เกิดฝนตกในภาคตะวันออก  กรุงเทพมหานครและปริมณฑล 

 

ส่วนเมฆที่ปรากฏ เป็นเมฆฝนฟ้าคะนอง หรือ คิวมูโลนิมบัส เมื่อเช้านี้มีลักษณะการเคลื่อนที่ขึ้นลงที่รุนแรงทำให้เกิดแนวโค้งเหมือนเมฆอาร์คัส (มีลักษณะโค้งเหมือนกันชนหน้ารถ คล้ายม้วนแบบหลอดและแบบชั้น) และเนื่องจากอาร์คัส เป็นส่วนหนึ่งของเมฆฝนฟ้าคะนองจึงสามารถแผ่ออกมาไกลจากตัวเมฆและมองเห็นได้ในหลายพื้นที่และหลายกิโลเมตร           
 


กรณีที่กลุ่มเมฆฝนทำไมถึงเป็นสีดำ กรมอุตุนิยมวิทยา ชี้แจงว่า เนื่องจากกลุ่มเมฆฝนที่ก่อตัวมีขนาดใหญ่และหนา ทำให้แสงแดดจากพระอาทิตย์ไม่สามารถผ่านทะลุ กลุ่มเมฆฝนได้ จึงทำให้กลุ่มเมฆฝนเป็นสีดำ ทำให้บรรยากาศมืดเหมือนกลางคืน  ตัวอย่างเช่น เช้าวันที่ 29 สิงหาคม 2565 มีกลุ่มเมฆฝนก่อตัวทางทิศตะวันออกของกรุงเทพมหานคร บริเวณจังหวัดฉะเชิงเทรา และเคลื่อนเข้าปกคลุมกรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ ซึ่งเป็นกลุ่มเมฆฝนที่มีขนาดใหญ่ และหนา 

 

สำหรับบริเวณที่กลุ่มเมฆฝนก่อตัวจะเกิดทิศตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นทิศที่พระอาทิตย์ขึ้น และเมื่อกลุ่มเมฆฝนที่ก่อตัวมีขนาดใหญ่และหนา ดังนั้นทำให้แสงแดดจากพระอาทิตย์ไม่สามารถผ่านทะลุกลุ่มเมฆฝนได้ จึงทำให้กลุ่มเมฆฝนเป็นสีดำ และบรรยากาศมืดเหมือนกลางคืน

 

 
ที่มา : ห้องสมุด ผอต.กขค.คปอ