เช็ครายชื่อพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก-น้ำท่วมฉับพลัน 20-24 ส.ค.

17 ส.ค. 2565 | 13:17 น.

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เปิดรายชื่อพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมฉับพลันในช่วงวันที่ 20 -24 สิงหาคมนี้ เช็คเลยมีอำเภอไหน จังหวัดอะไรบ้าง

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ออกประกาศเรื่องเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน โดยระบุว่าจากการคาดการณ์สภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ในช่วงวันที่ 20 - 22 สิงหาคม 2565 ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้

 

ดังนั้นกอนช. ได้ประเมินสถานการณ์น้ำจากฝนคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบว่าจะมีปริมาณฝนตกสะสมต่อเนื่อง ประกอบกับสถานการณ์น้ำในลำน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติบางพื้นที่ที่ฝนตกหนักอยู่ในเกณฑ์น้ำมาก อาจส่งผลให้เกิดน้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลัน รวมทั้งมีบางพื้นที่มีน้ำท่วมขังอยู่เดิมอาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จึงขอให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง ในช่วงวันที่ 20 - 24 สิงหาคม 2565 ดังนี้


1. เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมขัง บริเวณ 


ภาคเหนือ

  • จังหวัดเชียงราย (อำเภอเชียงของ และเชียงแสน) 
  • จังหวัดเชียงใหม่ (อำเภออมก๋อย) 
  • จังหวัดแม่ฮ่องสอน (อำเภอสบเมย และแม่สะเรียง) 
  • จังหวัดน่าน (อำเภอปัว เฉลิมพระเกียรติ ทุ่งช้าง และบ่อเกลือ) 
  • จังหวัดพิษณุโลก (อำเภอชาติตระการ นครไทย และวัดโบสถ์) 
  • จังหวัดเพชรบูรณ์ (อำเภอชนแดน และวังโป่ง) 
  • จังหวัดอุตรดิตถ์ (อำเภอทองแสนขัน และน้ำปาด) 
  • จังหวัดตาก (อำเภอท่าสองยาง) 

 

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 

  • จังหวัดกาฬสินธุ์ (อำเภอท่าคันโท และสามชัย) 
  • จังหวัดนครพนม (อำเภอท่าอุเทน ธาตุพนม บ้านแพง ปลาปาก โพนสวรรค์ เมืองนครพนม วังยาง และศรีสงคราม) 
  • จังหวัดบึงกาฬ (อำเภอเซกา โซ่พิสัย บึงโขงหลง บุ่งคล้า ปากคาด พรเจริญ เมืองบึงกาฬ และศรีวิไล) 
  • จังหวัดสกลนคร (อำเภอคำตากล้า บ้านม่วง พรรณนานิคม พังโคน โพนนาแก้ว เมืองสกลนคร วานรนิวาส และอากาศอำนวย) 
  • จังหวัดหนองคาย (อำเภอเฝ้าไร่ โพนพิสัย และเมืองหนองคาย) 
  • จังหวัดอุดรธานี (อำเภอบ้านดุง วังสามหมอ และสร้างคอม) 

 

ภาคตะวันออก 

  • จังหวัดระยอง (อำเภอแกลง) 
  • จังหวัดจันทบุรี (อำเภอท่าใหม่ นายายอาม และแหลมสิงห์) 
  • จังหวัดตราด (อำเภอเมืองตราด เกาะกูด และเกาะช้าง) 
     

เช็ครายชื่อพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก-น้ำท่วมฉับพลัน 20-24 ส.ค. เช็ครายชื่อพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก-น้ำท่วมฉับพลัน 20-24 ส.ค.

ภาคใต้ 

  • จังหวัดนราธิวาส (อำเภอจะแนะ แว้ง ศรีสาคร สุคิริน ยี่งอ ระแงะ และรือเสาะ) จังหวัดปัตตานี (อำเภอทุ่งยางแดง ปะนาเระ มายอ ยะรัง และยะหริ่ง)
  • จังหวัดยะลา (อำเภอกรงปินัง ธารโต บันนังสตา เบตง เมืองยะลา และรามัน)  

 

2. เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขา ของแม่น้ำกก แม่น้ำวัง แม่น้ำยม แม่น้ำน่าน แม่น้ำแควน้อย แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำเลย แม่น้ำชี แม่น้ำมูล แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำปราจีนบุรี แม่น้ำตราด แม่น้ำจันทบุรี แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำบางนรา และแม่น้ำสุไหงโก-ลก 

เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง

 

 

3. เฝ้าระวังแหล่งน้ำและอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการเก็บกักน้ำสูงสุด (Upper Rule Curve) 10 แห่ง ได้แก่ 

  • อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล จังหวัดเชียงใหม่ 
  • อ่างเก็บน้ำกิ่วลม และกิ่วคอหมา จังหวัดลำปาง 
  • อ่างเก็บน้ำแควน้อยบำรุงแดน จังหวัดพิษณุโลก 
  • บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ 
  • อ่างเก็บน้ำป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี 
  • อ่างเก็บน้ำน้ำพุง จังหวัดสกลนคร 
  • อ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น 
  • อ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี 
  • อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล จังหวัดระยอง 

 

รวมทั้งอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กและขนาดกลางที่มีปริมาตรน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ

เฝ้าระวังแหล่งน้ำและอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่

 

ทั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ กอนช. ได้ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้

 

1. ติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ

 

2. ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความสามารถใช้งานของอ่างเก็บน้ำ อาคารบังคับน้ำ สถานีสูบน้ำ และติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ พร้อมทั้งวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมกับปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำ และระดับน้ำในลำน้ำ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับน้ำหลากป้องกันน้ำท่วม ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

3. เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที

 

4. ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์