รอชม ดาวเสาร์ใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี​ คืนนี้​ต้องห้ามพลาด!

14 ส.ค. 2565 | 17:38 น.

เตรียมชม ดาวเสาร์ใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี​ คืนนี้ 15 ส.ค. 65 ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ หากฟ้าใสไร้ฝนสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่ายาวนานตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้าทุกภูมิภาคทั่วไทย

เตรียมชมปรากฎการณ์ธรรมชาติ ดาวเสาร์ใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี โดย สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ สดร. เพจ NARIT แจ้งว่า ในวันที่ 15 สิงหาคม 2565 นี้ ดาวเสาร์จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ โดยดวงอาทิตย์ โลก และดาวเสาร์ เรียงอยู่ในเส้นตรงเดียวกัน มีโลกอยู่ตรงกลาง

 

ส่งผลให้ดาวเสาร์อยู่ในตำแหน่งใกล้โลกที่สุดในรอบปี ห่างจากโลกประมาณ 1,325 ล้านกิโลเมตร เมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ดาวเสาร์สว่างจะปรากฏทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ สังเกตได้ด้วยตาเปล่ายาวนานตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้า หากฟ้าใสไร้ฝนชมได้ทุกภูมิภาคทั่วไทย

 

นอกจากนี้ หากดูดาวเสาร์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 4 นิ้ว หรือมีกำลังขยายตั้งแต่ 50 เท่าขึ้นไป จะเห็นวงแหวน A และวงแหวน B แยกกันอย่างชัดเจนโดยมีช่องแบ่งแคสสินีอยู่ตรงกลางระหว่างวงแหวนทั้งสอง

ทั้งนี้ ในช่วงระหว่างวันที่ 15 - 21 สิงหาคม 2565 นี้ ทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) จัดให้มีกิจกรรมสัปดาห์วิทยาศาสตร์  "NARIT Science Week 2022" คืนวันที่ 15 สิงหาคม จึงจัดกิจกรรมพิเศษ "สังเกตการณ์ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี" ชวนส่องกล้องโทรทรรศน์ชมวงแหวนดาวเสาร์ ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ตั้งแต่เวลา 18:00 - 22:00 น. ณ 4 จุดสังเกตการณ์หลัก ได้แก่

  • อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่ โทร. 081-8854353
  • หอดูดาว เฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จ.นครราชสีมา โทร. 086-4291489
  • หอดูดาว เฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จ.ฉะเชิงเทรา โทร. 084-0882264 
  • หอดูดาว เฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จ.สงขลา โทร. 095-1450411

นอกจากนี้ผู้ที่สนใจยังสามารถเข้าชมถ่ายทอดสด การสังเกตการณ์ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี ผ่าน Facebook Live ได้ทางแฟนเพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ พร้อมกันนี้ได้ร่วมกับโรงเรียนในเครือข่ายกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์ 560 แห่งทั่วประเทศ ตั้งกล้องโทรทรรศน์ และจัดกิจกรรมสังเกตปรากฏการณ์ในครั้งนี้ด้วย

 

โดยที่ผู้สนใจสามารถตรวจสอบจุดสังเกตการณ์ใกล้บ้านท่านได้ที่ https://bit.ly/MemberList-NARIT-DobsonianTelescope2022 หรือ รายชื่อโรงเรียนในเครือข่ายฯ ทั้ง 560 แห่ง (คลิกอ่านที่นี่)

 

รอชม ดาวเสาร์ใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี​ คืนนี้​ต้องห้ามพลาด!

ที่มา สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ NARIT