“ทล.” สั่งตั้งกรรมการสอบเอาผิด-คาดโทษทางวินัย เหตุสะพานกลับรถถล่ม

01 ส.ค. 2565 | 05:19 น.
อัพเดตล่าสุด :01 ส.ค. 2565 | 12:26 น.

“ทล.” เร่งตั้งคณะกรรมการสอบเอาผิด-คาดโทษทางวินัย หลังเกิดเหตุคานสะพานกลับถล่มทับรถยนต์ พบผู้เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บ 2 ราย คาดได้ข้อสรุปภายใน 2 สัปดาห์ เล็งชดเชย-เยียวยา ผู้ที่ได้รับผลกระทบอุบัติเหตุ

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า จากอุบัติเหตุคานสะพานลอยกลับรถ กม.34 ทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2) ใกล้กับโรงพยาบาลวิภาราม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร หล่นทับรถยนต์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บนั้น นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้สั่งการด่วนให้อธิบดีกรมทางหลวง พร้อมด้วยผู้อำนวยการศูนย์สร้างและบูรณะสะพานที่ 3 (ปทุมธานี) และผู้อำนวยการแขวงทางหลวงสมุทรสาคร ร่วมลงพื้นที่ทันที เพื่อตรวจสอบ และหาสาเหตุของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

 

 

ขณะเดียวกันจากการลงพื้นที่ พบว่าเหตุเกิดในวันอาทิตย์ที่ 31 กรกฎาคม 2565 เวลาประมาณ 20.00 น. ถนนพระราม 2 ตอน สะพานข้ามแม่น้ำท่าจีน-นาโคก ที่ กม.34 บริเวณโครงการปรับปรุงสะพานกลับรถบริเวณใกล้กับโรงพยาบาลวิภาราม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ขณะที่เกิดเหตุเจ้าหน้าที่คุมงาน และคนงาน อยู่ระหว่างการเตรียมความเรียบร้อยพื้นที่เพื่อจะเทพื้นสะพานใหม่ หลังจากที่ได้ทุบพื้นสะพานช่วงที่ชำรุดเสียหายออกแล้ว ทันใดนั้นคานสะพานลอยตัวริมสุดได้ร่วงหล่นลงมาทับรถยนต์ที่สัญจรบนถนนพระราม 2 เป็นเหตุให้มีรถได้รับความเสียหายจำนวน 3 คัน มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 ราย (ประชาชนในรถเกิดเหตุ เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 1 ราย และเจ้าหน้าที่กรมทางหลวง เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 1 ราย) ซึ่งได้ประสานให้เจ้าหน้าที่กู้ภัยนำส่งโรงพยาบาลแล้ว ทั้งนี้ได้ปิดช่องจราจรช่องทางหลัก (ขาเข้า) โดยให้วิ่งทางคู่ขนานแทน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้ทาง

 

 

“ทล.” สั่งตั้งกรรมการสอบเอาผิด-คาดโทษทางวินัย เหตุสะพานกลับรถถล่ม

นายสราวุธ กล่าวต่อว่า กรมทางหลวง ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิต และผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ เบื้องต้นกรมฯจะตั้งกรรมการตรวจสอบรายละเอียดข้อเท็จจริง วิเคราะห์สาเหตุที่เกิดขึ้นโดยมีวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ,สภาวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ,เจ้าหน้าที่กรมทางหลวง ให้รายงานผลภายใน 14 วัน และให้ระงับการซ่อมแซมโครงสร้างสะพานกลับรถนี้ รวมทั้งปิดการจราจรช่องทางหลักขาเข้าไว้ก่อน จนกว่าจะมีความมั่นใจในความปลอดภัย และได้สั่งการให้ตรวจสอบ ขั้นตอนการทำงาน วัสดุชิ้นส่วนงานก่อสร้าง เครื่องมือเครื่องจักร และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน ให้มีความพร้อม

ทั้งนี้หากพบว่าเป็นความบกพร่องของเจ้าหน้าที่กรมฯจะดำเนินการลงโทษทางวินัยและความผิดทางละเมิดเพื่อชดเชยค่าเสียหายที่เกิดขึ้น รวมทั้งส่วนใดส่วนหนึ่งของการก่อสร้างไม่พร้อม ไม่ปลอดภัย ให้หยุดงานก่อสร้างทันที โดยเน้นย้ำให้ใช้มาตรการความปลอดภัยระหว่างการก่อสร้างอย่างสูงสุด ซึ่งมีกว่า 200 โครงการ ทั่วประเทศ เพื่อป้องกันและไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ หรือผลกระทบด้านความปลอดภัยต่อประชาชนผู้ใช้ทางขึ้นอีก ทั้งนี้กรมทางหลวงพร้อมที่จะรับผิดชอบเยียวยาให้กับผู้ประสบเหตุอย่างเต็มที่ และขออภัยประชาชนกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้

 

 

 “กรมมีความเข้มมาตรการในกรณีที่เป็นงานจ้างเหมา โดยผู้รับเหมารายใดไม่ดำเนินการตามมาตรการที่กำหนด จะมีการสั่งหยุดงานเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆให้มีความพร้อมเพื่อดำเนินงานต่อได้ ซึ่งโครงการดังกล่าวไม่ได้อยู่ในส่วนหนึ่งของมอเตอร์เวย์ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว เพราะบริเวณที่เกิดเหตุเป็นเพียงสะพานเกือกม้ากลับรถ แต่การก่อสร้างมอเตอร์เวย์จะดำเนินการก่อสร้างเป็นทางยกระดับ นอกจากนี้ในพื้นที่เกิดเหตุผู้ที่ดำเนินการซ่อมแซมสะพานคือศูนย์สร้างและบูรณะสะพานที่ 3 (ปทุมธานี) ของกรมทางหลวง ซึ่งเป็นงานที่กรมฯดำเนินการรับผิดชอบเองไม่เกี่ยวข้องกับบริษัทเอกชนผู้รับเหมา”

“ทล.” สั่งตั้งกรรมการสอบเอาผิด-คาดโทษทางวินัย เหตุสะพานกลับรถถล่ม

 

 ส่วนแนวทางการเยียวยา เบื้องต้นกรมฯมอบหมายให้ผู้อำนวยการศูนย์สร้างและบูรณะสะพานที่ 3 (ปทุมธานี) ประสานงานติดต่อกับครอบครัวผู้เสียชีวิตและครอบครัวผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ โดยทางกรมฯเป็นผู้ชดเชยค่ารักษาพยาบาลและการสวดอภิธรรมศพรับเป็นเจ้าภาพตลอดทั้งงาน ส่วนเจ้าหน้าที่กรมทางหลวงที่เกิดอุบัติเหตุในครั้งนี้มีเงินกองทุนสวัสดิการการช่วยเหลือ เช่น ในกรณีมีผู้เสียชีวิตโดยครอบครัวของผู้เสียชีวิตจะได้รับเงินช่วยเหลือ จำนวน 30,000 บาท ส่วนผู้ที่บาดเจ็บ จะได้รับเงินช่วยเหลือประมาณ 10,000-30,000 บาท ปัจจุบันกรมฯมีเงินกองทุนร่วมบริจาคกับเจ้าหน้าที่กรมทางหลวงที่ประสบอุบัติเหตุระหว่างการทำงานส่วนหนึ่ง ส่วนประชาชนที่เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพูดคุยเพื่อชดเชยและเยียวยาวงเงินเท่าไรและดำเนินการในลักษณะใดได้บ้าง

สำหรับสะพานกลับรถบนทางหลวงหมายเลข 35 หรือถนนพระราม 2 ที่ กม.34 (สะพานกลับรถบริเวณใกล้ รพ.วิภาราม) ก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2536 ซึ่งได้ใช้งานมาเป็นระยะเวลานานเกือบ 30 ปี จึงมีความจำเป็นต้องบูรณะซ่อมแซมสะพาน โดยเริ่มเข้าซ่อมแซมสะพานตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา กำหนดแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม 2565 ประกอบด้วยการทุบรื้อพื้นสะพานและเปลี่ยนพื้นใหม่ จำนวน 2 ช่วง งานสกัดโครงสร้างสะพานที่เสียหาย ส่วนที่อยู่บนคานคอนกรีตอัดแรง รวมทั้งบริเวณพื้นที่ส่วนของทางขึ้นทางลง เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะใช้งานได้อย่างแข็งแรงปลอดภัย เพิ่มประสิทธิภาพในการกลับรถขาเข้าบนถนนพระราม 2

“ทล.” สั่งตั้งกรรมการสอบเอาผิด-คาดโทษทางวินัย เหตุสะพานกลับรถถล่ม

 

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมากรมทางหลวงได้เน้นย้ำเรื่องมาตรการความปลอดภัยในระหว่างการก่อสร้างอย่างสูงสุด เพื่อไม่ให้ประชาชนผู้ใช้ทางได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ครั้งนี้เป็นบทเรียนครั้งใหญ่ที่กรมทางหลวงจะต้องทบทวนและพิจารณามาตรการเสริมความปลอดภัยด้านต่าง ๆ เพิ่มเติมมากขึ้นในทุกมิติ เพื่อให้เกิดความมั่นใจก่อนจะเริ่มงานโครงการต่อไป