"แผ่นดินไหว" วิธีปฏิบัติ-การรับมือ เช็คข้อควรรู้ทั้งหมดที่นี่

22 ก.ค. 2565 | 09:29 น.

"แผ่นดินไหว" แนวทางการรับมือ -วิธีปฏิบัติก่อนเกิดเหตุ ระหว่างเกิดเหตุ หรือหลังเกิดอย่างไร ตรวจสอบข้อมูลทั้งหมดที่นี่

หลังจากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 6.4 ที่เมียนมา และแรงสั่นสะเทือนดังกล่าวรับรู้ได้ถึงหลายจังหวัดทางภาคเหนือ ทั้งเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ซึ่งตลอดทั้งคืนจวบจนวันนี้ ก็เกิดเหตุการณ์อาฟเตอร์ช็อก after shock อย่างต่อเนื่อง  โดยข้อมูลจากกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว (ณ เวลา 16.29 น.)ระบุว่ามีจำนวนอาฟเตอร์ช็อกมากกว่า 80 ครั้ง  ทั้งนี้เบื้องต้นยังไม่มีรายงานความเสียหาย (ติดตามอัพเดทเหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศและใกล้เคียงที่นี่)

 

อย่างไรก็ตามวันนี้ "ฐานเศรษฐกิจ"ได้รวบรวมข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา เกี่ยวกับวิธีปฏิบัติ ข้อควรรู้ต่างๆเกี่ยวกับการเกิดแผ่นดินไหว โดยสามารถตรวจสอบข้อมูลทั้งหมดได้ดังนี้

 

ก่อนเกิดแผ่นดินไหว

  • ควรมีไฟฉายพร้อมถ่านไฟฉาย และกระเป๋ายาเตรียมไว้ในบ้าน และให้ทุกคนทราบว่าอยู่ที่ไหน
  • ศึกษาการปฐมพยาบาลเบื้องต้น
  • ควรมีเครื่องมือดับเพลิงไว้ในบ้าน เช่น เครื่องดับเพลิง ถุงทราย เป็นต้น
  • ควรทราบตำแหน่งของวาล์วปิดน้ำ วาล์วปิดก๊าซ สะพานไฟฟ้า สำหรับตัดกระแสไฟฟ้า
  • อย่าวางสิ่งของหนักบนชั้น หรือหิ้งสูง ๆ เมื่อแผ่นดินไหวอาจตกลงมาเป็นอันตรายได้
  • ผูกเครื่องใช้หนัก ๆ ให้แน่นกับพื้นผนังบ้าน
  • ควรมีการวางแผนเรื่องจุดนัดหมาย ในกรณีที่ต้องพลัดพรากจากกัน เพื่อมารวมกันอีกครั้ง ในภายหลัง
  • สร้างอาคารบ้านเรือนให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่กำหนด สำหรับพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหว


 

ระหว่างเกิดแผ่นดินไหว

  • อย่าตื่นตกใจ พยายามควบคุมสติอยู่อย่างสงบ ถ้าท่านอยู่ในบ้านก็ให้อยู่ในบ้าน ถ้าท่านอยู่นอกบ้านก็ให้อยู่นอกบ้าน เพราะส่วนใหญ่ได้รับบาดเจ็บเพราะวิ่งเข้าออกจากบ้าน
  • ถ้าอยู่ในบ้านให้ยืนหรือมอบอยู่ในส่วนของบ้านที่มีโครงสร้างแข็งแรง ที่สามารถรับน้ำหนัก ได้มาก และให้อยู่ห่างจากประตู ระเบียง และหน้าต่าง
  • หากอยู่ในอาคารสูง ควรตั้งสติให้มั่น และรีบออกจากอาคารโดยเร็ว หนีให้ห่างจากสิ่งที่จะล้มทับได้
  • ถ้าอยู่ในที่โล่งแจ้ง ให้อยู่ห่างจากเสาไฟฟ้า และสิ่งห้อยแขวนต่าง ๆ ที่ปลอดภัยภายนอกคือที่โล่งแจ้ง
  • อย่าใช้ เทียน ไม้ขีดไฟ หรือสิ่งที่ทำให้เกิดเปลวหรือประกายไฟ เพราะอาจมีแก๊สรั่วอยู่บริเวณนั้น
  • ถ้าท่านกำลังขับรถให้หยุดรถและอยู่ภายในรถ จนกระทั่งการสั่นสะเทือนจะหยุด
  • ห้ามใช้ลิฟท์โดยเด็ดขาดขณะเกิดแผ่นดินไหว
  • หากอยู่ชายหาดให้อยู่ห่างจากชายฝั่ง เพราะอาจเกิดคลื่นขนาดใหญ่ซัดเข้าหาฝั่ง
     

หลังเกิดแผ่นดินไหว

  • ควรตรวจตัวเองและคนข้างเคียงว่าได้รับบาดเจ็บหรือไม่ ให้ทำการปฐมพยาบาลขั้นต้นก่อน
  • ควรรีบออกจากอาคารที่เสียหายทันที เพราะหากเกิดแผ่นดินไหวตามมาอาคารอาจพังทลายได้
  • ใส่รองเท้าหุ้มส้นเสมอ เพราะอาจมีเศษแก้ว หรือวัสดุแหลมคมอื่น ๆ และสิ่งหักพังแทง
  • ตรวจสายไฟ ท่อน้ำ ท่อแก๊ส ถ้าแก๊สรั่วให้ปิดวาล์วถังแก๊ส ยกสะพานไฟ อย่าจุดไม้ขีดไฟหรือก่อไฟจนกว่าจะแน่ใจว่าไม่มีแก๊สรั่ว
  • ตรวจสอบว่า แก๊สรั่ว ด้วยการดมกลิ่นเท่านั้น ถ้าได้กลิ่นให้เปิดประตูหน้าต่างทุกบาน
  • ให้ออกจากบริเวณที่สายไฟขาด และวัสดุสายไฟพาดถึง
  • เปิดวิทยุฟังคำแนะนำฉุกเฉิน อย่าใช้โทรศัพท์ นอกจากจำเป็นจริง ๆ
  • สำรวจดูความเสียหายของท่อส้วม และท่อน้ำทิ้งก่อนใช้
  • อย่าเป็นไทยมุงหรือเข้าไปในเขตที่มีความเสียหายสูง หรืออาคารพัง
  • อย่าแพร่ข่าวลือ