ตัดคะแนนใบขับขี่ บันทึกคะแนนจราจร เริ่มวันไหน

19 ก.ค. 2565 | 22:00 น.

รู้ยัง ระบบตัดคะแนนใบขับขี่ จะใช้บังคับในวันที่ 9 ม.ค. 66 โดยระบบนี้กำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่มีคะแนนคนละ 12 คะแนน

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์  รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารงานจราจร (ศจร.ตร.) ได้ออกมาตรการเพื่อสร้างจิตสำนึกในการขับขี่ปลอดภัย ด้วยการใช้มาตรการทางปกครอง 2 เรื่อง ได้แก่ 1.ระบบตัดคะแนนความประพฤติในการขับรถ และ 2.การสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่กรณีกระทำผิดกฎจราจร แล้วส่งผลให้เกิดอันตรายอย่างร้ายแรง เพื่อเป็นการป้องกันและลดอุบัติเหตุ 

พล.ต.ต.เอกราช ลิ้มสังกาศ ผู้บังคับการตำรวจทางหลวง (ผบก.ทล.) กล่าวถึงระบบตัดคะแนนความประพฤติในการขับรถ จะใช้บังคับในวันที่ 9 ม.ค. 66 โดยระบบนี้กำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่มีคะแนนคนละ 12 คะแนน หากทำผิดกฎจราจรจะถูกตัดคะแนนตามจำนวนที่กำหนด โดยข้อหาความผิดมีตั้งแต่ 1 จนถึง 4 คะแนน

  • ข้อหาที่ตัด ครั้งละ 1 คะแนน เช่น ขับรถเร็ว ฝ่าฝืนเครื่องหมายทางม้าลาย ไม่สวมหมวกนิรภัย ไม่รัดเข็มขัดนิรภัย ใช้โทรศัพท์ขณะขับรถ ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน         
  • ข้อหาที่ตัด ครั้งละ 2 คะแนน เช่น ฝ่าไฟแดง ย้อนศร ขับรถในระหว่างที่ใบอนุญาตถูกสั่งยึด หรือถูกสั่งพักใช้
  • ข้อหาที่ตัด ครั้งละ 3 คะแนน เช่น แข่งรถในทาง
  • ข้อหาที่ตัด ครั้งละ 4 คะแนน เช่น ขับรถในขณะเมาสุรา

หากคะแนนถูกตัดจนเหลือศูนย์คะแนน จะถูกสั่ง พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ เป็นระยะเวลา 90 วัน สำหรับคะแนนที่ถูกตัด จะมีการคืนคะแนนเมื่อครบกำหนด 1 ปี สำหรับการทำผิดครั้งนั้นๆ หรือกรณีที่มีคะแนนเหลือน้อย อาจขอเข้ารับการอบรมความรู้เกี่ยวกับการขับรถและวินัยจราจร จาก กรมการขนส่งทางบก เพื่อรับคืนคะแนนตามที่หลักสูตรกำหนดก็ได้

 

ทั้งนี้ประชาชนสามารถตรวจสอบคะแนนได้จาก เว็บไซต์ PTM E-ticket (https://ptm.police.go.th/eTicket) และ แอปพลิเคชันเป๋าตัง โดยก่อนเริ่มใช้มาตรการตัด คะแนน ตร. และ กรมการขนส่งทางบก จะแถลงข่าวและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบอย่างต่อเนื่อง ต่อไป

 

ส่วนการสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่กรณีกระทำผิดกฎจราจร มีการกำหนดหลักเกณฑ์ ได้แก่

  • มีเหตุ/ก่อให้เกิด/น่าจะก่อให้เกิด อันตรายร้ายแรงสาธารณะ
  • มีลักษณะเป็นภัยแก่ประชาชนอย่างร้ายแรง
  • มีพฤติการณ์หลบหนีเมื่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคล/ทรัพย์สิน ซึ่ง ผบช.น. ภ.1-9 และ ก. เป็นผู้มีอำนาจออก

         

คำสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ ครั้งละไม่เกิน 90 วัน โดยการสั่งพักใช้ตามข้อนี้แยกต่างหากจากระบบตัดคะแนนความประพฤติในการขับรถ ระเบียบฉบับนี้ มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 13 ก.ค.65 เป็นต้นมา

 

หากมีการขับรถในระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 156 แห่ง พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

 

นอกจากระเบียบทั้ง 2 เรื่องดังกล่าว พล.ต.ต.เอกราช กล่าวว่า ยังมีระเบียบที่กำหนดขั้นตอนการปฏิบัติงานของ ตร. และระเบียบเรื่อง การประสานข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ฯ ระหว่าง ตร. และกรมการขนส่งทางบก เพื่อให้การใช้มาตรการตัดคะแนนเป็นไป ด้วยความเรียบร้อย และมีประสิทธิภาพ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความห่วงใยให้ประชาชนขับขี่และใช้ถนนได้อย่างปลอดภัย จึงขอให้ร่วมกันปฏิบัติ ตามกฎจราจร เพื่อสร้างวัฒนธรรมการขับขี่ปลอดภัย สร้างวินัยจราจร เพื่อป้องกันอุบัติเหตุทางถนน อย่างเป็นรูปธรรม และยั่งยืน

 

ส่วนดุลยพินิจของตำรวจในการยึดใบอนุญาตขับขี่ หรือระงับการใช้รถ ทางพล.ต.ต.เอกราช กล่าวว่า การยึดใบอนุญาตขับขี่ หรือระงับการใช้รถ จะมีประเด็นในเรื่องเจ้าพนักงานจราจร ถ้าพบเห็นผู้ขับขี่ผู้ใดได้มีพฤติกรรมที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน ไม่ว่าจะเป็นทางร่ายกาย ทั้งการอ่อนเพลีย ง่วงนอน ลมบ้าหมู ฯลฯ หากพบเห็นแล้ว เจ้าพนักงานจราจรมีอำนาจที่จะยึดใบอนุญาตขับขี่เพื่อไม่ให้เขาขับรถต่อไป หากร่างกายสมบูรณ์แล้วเมื่อพิจารณาดูแล้วสามารถขับรถต่อไปได้ก็จะคืนใบอนุญาตขับขี่ให้

 

ส่วนทางด้านจิตใจ เช่น อาจมีเรื่องเครียดทะเลาะกับแฟน มีการขับรถปาดไปปาดมา ซึ่งเจ้าพนักงานจราจรเห็นว่าอาจเกิดอันตรายต่อผู้อื่นก็สามารถขอยึดใบขับขี่ เพื่อไม่ให้ขับรถ หากจุดนั้นเขาไม่มีใบขับขี่ก็มีอำนาจระงับการใช้รถได้ เพื่อไม่ให้เขาขับรถไปเป็นอันตรายต่อผู้อื่น แต่หากเหตุการณ์หรือพฤติกรรมต่างๆ จบไปแล้วทางเจ้าพนักงานจราจรสามารถใช้ดุลยพินิจว่าสามารถขับรถต่อไปได้หรือไม่ ซึ่งจะมีกระบวนการต่อมาจากนั้น เช่น หากสภาพร่างกายไม่สมบูรณ์ก็จะส่งไปโรงพยาบาล รวมถึงแจ้งญาติหรือมีกระบวนการอื่นใดที่สามารถปฏิบัติต่อผู้ขับขี่ได้อย่างเหมาะสมและไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อบุคคลผู้อื่น

 

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ตร. ได้แก้ไข พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ.2565 เพื่อเป็นการป้องกันและลดอุบัติเหตุ ซึ่งมีหลักการสำคัญ เช่น

  1. การเพิ่มโทษของผู้ที่กระทำผิดซ้ำข้อหาเมาแล้วขับภายใน 2 ปีนับแต่วันกระทำผิดครั้งแรก ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับตั้งแต่ 50,000 - 100,000 บาท
  2. กำหนดอำนาจในการตรวจปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดและสารเสพติดในร่างกายของผู้ขับขี่ที่หมดสติซึ่งไม่อาจให้ความยินยอมได้
  3. เพิ่มอัตราโทษปรับขั้นสูงในกฎหมายจราจร จากเดิมโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 1,000 บาท แก้ไขเพิ่มเป็นปรับสูงสุดไม่เกิน 4,000 บาท
  4.  การกำหนดให้ใช้ที่นั่งนิรภัยหรือมีวิธีป้องกันอันตรายสำหรับเด็กอายุไม่เกิน 6 ปีขณะโดยสารรถยนต์ ซึ่งอยู่ระหว่างจัดทำประกาศรูปแบบที่นั่งนิรภัย รวมถึงเปิดช่องทางผ่อนคลายสำหรับประชาชนที่ไม่สามารถจัดหาที่นั่งนิรภัยเด็กไว้ โดยให้ปฏิบัติตามวิธีการป้องกันอันตราย ซึ่งจะกำหนดรูปแบบที่ประชาชนสามารถปฏิบัติได้ง่าย ไม่เพิ่มภาระค่าใช้จ่าย

อย่างไรก็ตาม กฎหมายฉบับใหม่นี้จะมีผลใช้บังคับในวันที่ 5 ก.ย.65