ศูนย์ฯพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ตรวจสอบเหตุปลาตาย ในคลอง จ.ระยอง

16 ก.ค. 2565 | 05:37 น.

ศูนย์ฯพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ตรวจสอบเหตุปลาตาย ในคลองสาธารณะ จ.ระยอง พร้อมช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบรวมถึงฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทุกด้าน

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.)กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า วันที่ 15 กรกฎาคม 2565 ศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม (ศปก.พล.)โดยสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 13 (สสภ.13/ชลบุรี) ศูนย์ควบคุมมลพิษจังหวัดระยอง (ศคพ.รย.) ร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริง

 

กรณีที่ได้รับเรียนได้รับเรื่องร้องเรียนจากเครือข่ายและกำนันผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 ตำบลหนองบัวอำเภอบ้านค่ายจังหวัดระยอง พบปลาตายในคลองสาธารณะด้านทิศใต้ของเขตประกอบการโรจนะ ร่วมกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง และผู้แทนเขตประกอบการอุตสาหกรรมโรจนะ

 

พบว่า สาเหตุเกิดจาก ถังเก็บกรดซัลฟิวริก ที่อยู่บนชั้นดานฟ้าอาคารการผลิต ระดับความสูง 38 เมตร ของบริษัท นิรันดร์ (ประเทศไทย) จำกัด เลขที่ 8 หมู่ 2 ถนน - ตำบล หนองบัว อำเภอ บ้านค่าย จังหวัด ระยอง  ประกอบกิจการผลิตกรดมะนาว

 

สถานะภาพปัจจุบันหยุดประกอบกิจการตั้งแต่ พ.ศ. 2563 เกิดการรั่วไหล ลงจากท่อระบายน้ำฝนของอาคารเข้าสู่ระบบรวบรวมน้ำฝน แล้วระบายลงสู่คลองปลากั้ง
 

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ

นายอรรถพล กล่าวว่า โรงงานได้แก้ไขเบื้องต้น 1) มีการขนถ่ายกรดซัลฟิวริกภายในถังบางส่วนเก็บลงในถังแสตนเลส ชั้น 4 ของอาคาร  2)ปรับสภาพบริเวณถัง มีการโรยปูนขาวบริเวณถังเก็บกรดซัลฟิวริก บริเวณที่มีการรั่วซึม รางระบายน้ำฝน ลำคลองปลากั้ง

 

3)เปิดบ่อรวบรวมน้ำเสียภายในบริเวณโรงงาน เฝ้าระวังสภาพความเป็นกรดของน้ำเป็นระยะๆ พร้อมดำเนินการปิดกั้นช่องทางระบายน้ำออกจากพื้นที่โรงงาน และ 4)สร้างฝายบริเวณหมู่ 2 (สนามกีฬา) เพื่อเพิ่มปริมาณออกซิเจนในการบำบัดน้ำเสีย โดย อบต.หนองบัว ดำเนินการ โรงงานเป็นผู้สนับสนุน

ศูนย์ฯพิทักษ์สิ่งแวดล้อม  ตรวจสอบเหตุปลาตาย  ในคลอง จ.ระยอง

ศปก.พล.ดำเนินการตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมบริเวณคลองปลากั้ง จำนวน 2 จุด คือ บริเวณหน้าบ้านผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 (เหนือน้ำ) และบริเวณฝายกั้นน้ำหมู่ที่ 2 พร้อมเก็บตัวอย่างคุณภาพทั้ง 2ตัวอย่าง ส่งห้องปฏิบัติการ สสภ.13 เพื่อทำการวิเคราะห์ต่อไป

 

จากการสอบถามชาวบ้านในพื้นที่พบว่า เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2565 มีปลาตาย ประมาณ 10 กิโลกรัม ประกอบด้วย ปลานิล ปลาช่อน และปลากรด เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันไม่พบปลาตายในพื้นที่แล้ว โดยคณะผู้ตรวจสอบจะเข้าตรวจสอบอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 18 กรกฎาคม 2565 

 

ทั้งนี้ ศปก.พล. แนะนำให้ดำเนินการนำแกลบหรือทรายมาทำการดูดซับบริเวณถังเก็บกรดซัลฟูกริดที่เกิดการรั่วไหลและพื้นที่ภายในเขื่อนกั้นถ้งเก็บกรดซัลฟูกริด

 

เพราะเนื่องจากเดิมได้โรยปูนขาวเพื่อปรับสภาพ ทำให้เกิดสารประกอบเกลือ หากฝนตกลงหนักจะเกิดเหตุการณ์สารละลายเกลือซ้ำอีกได้ และมอบหมายให้ ศปก.พล. ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบรวมถึงฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทุกด้าน นายอรรถพล กล่าว