NASA เผยรายชื่อ 5 วัตถุเป้าหมายแรกของกล้องโทรทรรศน์ฯ"เจมส์ เว็บบ์"

09 ก.ค. 2565 | 07:39 น.

NASA เผยรายชื่อ 5 วัตถุเป้าหมายแรกของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ (James Webb Space Telescope: JWST) ก่อนเผยภาพจริง 12 ก.ค.นี้

 วันที่ 9 ก.ค.65 สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ข้อความทางเพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ระบุว่า เมื่อคืนที่ผ่านมา (8 กรกฎาคม 2565) ในที่สุดนาซาก็เผยวัตถุที่จะเป็นเป้าหมายแรกของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ (James Webb Space Telescope: JWST) และไม่ได้มีเพียงวัตถุเดียว แต่มีถึง 5 วัตถุ [1] จากที่มีข่าวออกมาว่า นาซาจะมีกำหนดเผยภาพของวัตถุแรกที่บันทึกได้จาก JWST สู่สาธารณชนเป็นครั้งแรก ในวันที่ 12 กรกฎาคม 2565 ที่จะถึงนี้

 

JWST ถือเป็นเรือธงลำใหม่ขององค์การบริหารการบินและอวกาศนาซา และเป็นกล้องโทรทรรศน์อวกาศที่ทันสมัยที่สุดในยุคปัจจุบัน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา นาซาเก็บวัตถุเป้าหมายของภาพที่จะเปิดเผยนี้เอาไว้เป็นความลับขั้นสูงมาก แม้กระทั่งนักวิทยาศาสตร์หลายๆ คนที่เป็นหัวหน้าโครงการของ JWST หลายโครงการก็ไม่อาจทราบได้
 

NASA เผยรายชื่อ 5 วัตถุเป้าหมายแรกของกล้องโทรทรรศน์ฯ"เจมส์ เว็บบ์"

 

 

สำหรับรายชื่อของ 5 วัตถุเป้าหมายดังกล่าว ได้แก่

 

1.WASP-96 b (spectrum)

 

WASP-96 b เป็นดาวเคราะห์ขนาดยักษ์ที่โคจรอยู่รอบดาวฤกษ์ที่อยู่ห่างออกไป 1,150 ปีแสง มีมวลครึ่งหนึ่งของดาวพฤหัสบดี โคจรรอบดาวฤกษ์ทุกๆ 3.4 วัน ถูกค้นพบในปี ค.ศ. 2014 อย่างไรก็ตาม ภาพแรกที่บันทึกของดาวเคราะห์ดวงนี้จะไม่ใช่ภาพของดาวเคราะห์โดยตรง แต่จะเป็นภาพที่ได้จากอุปกรณ์ที่ทำการบันทึกสเปกตรัมของแสงที่มาจากดาวเคราะห์ ดังนั้นภาพที่จะเห็นนั้นจึงน่าจะเป็นลักษณะคล้ายกับกราฟที่แสดงแถบดูดกลืนของแก๊สในชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์นี้ โดย JWST อาจจะเปิดเผยให้เห็นถึงองค์ประกอบสำคัญบนดาวเคราะห์ดวงนี้ ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญที่ JWST จะช่วยให้เราสามารถศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะอื่นๆ จนถึงความเป็นไปได้ที่จะมีสิ่งมีชีวิตต่อไป

2.Carina Nebula

 

Carina Nebula หรือเนบิวลากระดูกงูเรือ เป็นเนบิวลาที่มีความสว่างที่สุดเนบิวลาหนึ่งบนท้องฟ้า สามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่าจากประเทศไทยในพื้นที่ปราศจากแสงรบกวน Carina Nebula อยู่ห่างออกไป 7,600 ปีแสงในกลุ่มดาวกระดูกงูเรือในซีกฟ้าใต้ และเป็นแหล่งอนุบาลดาวฤกษ์เกิดใหม่เป็นจำนวนมาก ที่เต็มไปด้วยดาวฤกษ์ขนาดยักษ์ที่มีขนาดใหญ่กว่าโลกหลายเท่า

 

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสนใจว่ากล้องโทรทรรศน์เจมส์เว็บบ์จะทำการศึกษาเนบิวลาที่มีขนาดใหญ่เช่นนี้อย่างไร ทางหนึ่งอาจจะเป็นการถ่ายภาพหลายๆ ภาพมาต่อกันในลักษณะของ mosaic เพื่อเปิดเผยให้เห็นภาพมุมกว้างของดาวฤกษ์ที่ถูกบดบังเอาไว้ด้วยเนบิวลาที่ไม่สามารถสังเกตเห็นได้ด้วยแสงปกติ หรืออีกทางหนึ่งกล้อง JWST อาจจะซูมเข้าไปเพื่อศึกษารายละเอียดของดาวฤกษ์ขนาดมหึมา ณ ใจกลางของเนบิวลา ได้แก่ดาว eta Carina ที่เป็นระบบดาวฤกษ์ขนาดยักษ์สองดวงที่ระเบิดขึ้นในปี ค.ศ. 1837 ปัจจุบันมีการปล่อยแสงสว่างรวมกันมากกว่าดวงอาทิตย์ของเรากว่าสี่ล้านเท่า ดาวฤกษ์ทั้งสองของ Eta Carina นั้นสามารถสังเกตเห็นในช่วงแสงปกติได้ยากมาก เนื่องจากถูกห่อหุ้มเอาไว้ด้วย Homunculus Nebula ซึ่งเป็นฝุ่นหนาทึบที่มาจากการระเบิดของดาวที่ผ่านมานี่เอง แต่แสงในช่วงคลื่นอินฟราเรดของ JWST อาจจะเปิดเผยให้เห็นถึงโครงสร้างภายในได้
 

3.Southern Ring Nebula

 

เนบิวลาวงแหวนใต้นี้เป็นเนบิวลาดาวเคราะห์ (planetary nebula) หรือกลุ่มก้อนแก๊สที่กำลังขยายตัวอยู่รอบๆ ดาวฤกษ์ที่กำลังตายลง เนบิวลานี้มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางครึ่งปีแสง และห่างออกไปจากโลกถึง 2000 ปีแสง ช่วงคลื่นอินฟราเรด และความละเอียดที่เพิ่มขึ้นของ JWST จะช่วยเปิดเผยให้เราเห็นถึงโครงสร้างอันละเอียดของกลุ่มแก๊สที่ประกอบขึ้นเป็นเนบิวลาดาวเคราะห์ รวมถึงแก๊สในวงอื่นอีกมากที่ไม่สามารถสังเกตเห็นได้ในช่วงคลื่นแสงปกติ

 

ทั้งหมดนี้จะช่วยบอกเราถึงโครงสร้างและจุดจบของดาวฤกษ์ ซึ่งเป็นจุดจบเดียวกันกับที่ดวงอาทิตย์จะต้องพบวันหนึ่งในอีกราว 5 พันล้านปีข้างหน้า การสังเกตเนบิวลาดาวเคราะห์นั้นจึงไม่เพียงแต่จะช่วยเปิดเผยให้เห็นถึงโครงสร้าง และจุดจบของดาวฤกษ์ดวงหนึ่งเพียงเท่านั้น แต่จะยังเป็นหน้าต่างที่จะช่วยให้เราได้สามารถสังเกตเห็นถึงชะตาของระบบสุริยะของเราที่จะมาถึงวันหนึ่งในอนาคต
 

4.Stephan’s Quintet

 

กระจุกกาแล็กซีที่อยู่ห่างออกไป 290 ล้านปีแสงในทิศทางของกลุ่มดาวเปกาซัส เป็น compact galaxy group แรกที่เคยมีการค้นพบ นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1877 กาแล็กซีสี่กาแล็กซีในภาพนี้ถูกยึดเหนี่ยวกันไว้ด้วยแรงโน้มถ่วง และกำลังถูกเหวี่ยงไปรอบๆ ก่อนที่จะถูกแรงโน้มถ่วงดึงดูดให้ค่อยๆ รวมตัวกันกลายเป็นกาแล็กซีขนาดยักษ์ในอนาคต

 

ภาพถ่ายของหมู่กาแล็กซีนี้โดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศ Spitzer ซึ่งเป็นกล้องในช่วงอินฟราเรดใกล้เคียงกับ JWST เผยให้เห็นถึงมวลสารระหว่างกาแล็กซีที่ชนกันเกิดเป็นบริเวณที่เต็มไปด้วยคลื่นอัดกระแทกขนาดใหญ่กว่ากาแล็กซีทางช้างเผือกของเรา ที่เกิดขึ้นจากการที่กาแล็กซีหนึ่งในหมู่กาแล็กซีนี้กำลังร่วงหล่นลงสู่ใจกลางของหมู่กาแล็กซีด้วยความเร็วอันมหาศาล จึงเปล่งแสงของไฮโดรเจนออกมา เป็นไปได้ว่า JWST อาจจะสามารถสังเกตเห็นรายละเอียดของคลื่นอัดกระแทกของมวลสารระหว่างหมู่กาแล็กซีนี้ และนอกจากนี้ยังอาจจะสามารถเปิดเผยให้เห็นถึงรายละเอียดของบริเวณก่อกำเนิดวงดาว (star forming-region) ภายในกาแล็กซีเหล่านี้ด้วยรายละเอียดที่ไม่เคยมีกล้องใดเห็นมาก่อน
 

5.SMACS 0723

 

กระจุกกาแล็กซีมวลขนาดมหึมาในบริเวณนี้ จะประพฤติตัวคล้ายกับเลนส์ความโน้มถ่วง ที่จะขยายและบิดเบือนแสงจากวัตถุที่อยู่เบื้องหลัง ช่วยให้เราสามารถเห็นกาแล็กซีที่ไกลและจางเกินกว่าจะสังเกตเห็นปรกติได้ กระจุกกาแล็กซีนี้เคยศึกษามาแล้วด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศทั้ง Hubble และ Spitzer และเปิดเผยให้เห็นกระจุกกาแล็กซีจำนวนมากมาย พร้อมทั้งกาแล็กซีเบื้องหลังที่บิดเบี้ยวไปด้วยเลนส์ความโน้มถ่วง กาแล็กซีที่ห่างไกลออกไปเช่นนี้สังเกตเห็นได้ยากมาก เนื่องจากแสงอันริบหรี่ที่ต้องอาศัยพื้นที่รับแสงขนาดใหญ่ และแสงที่เลื่อนออกไปอยู่ในช่วงคลื่นอินฟราเรด เนื่องจากระยะห่างที่อยู่ไกลออกไปมาก

 

เป้าหมายนี้จึงเป็นบททดสอบศักยภาพอันสำคัญของ JWST ซึ่งอาจจะช่วยเผยให้เห็นถึงกาแล็กซีอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่เคยมีใครพบมาก่อน รวมถึงกาแล็กซีที่อยู่ห่างออกไปไกลเสียจนแสงที่ออกมานั้นอาจจะถูกปล่อยออกมาตั้งแต่ขณะที่เอกภพมีอายุเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ของอายุเอกภพปัจจุบัน ภาพที่เห็นของวัตถุนี้ จะเป็นตัวบ่งชี้ที่ดีถึงศักยภาพที่ JWST จะสามารถบันทึกภาพ deep field ในอนาคตอันใกล้
 

ภาพเหล่านี้เป็นเพียงภาพ “เปิดตัว” ของศักราชใหม่แห่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศ จากนี้ JWST จะเริ่มปฏิบัติภารกิจทางวิทยาศาสตร์อย่างจริงจัง เพื่อค้นคว้าและสังเกตการณ์เอกภพ ในรูปแบบที่ไม่เคยมีอุปกรณ์หรือเครื่องมือชิ้นใดของโลกที่เคยทำได้มาก่อน
 

ภาพที่น่าตื่นเต้นและรอคอยที่สุดสำหรับคุณคือภาพใด? กลับมาติดตามกันอีกครั้งในวันที่ 12 กรกฎาคมที่จะถึงนี้

 

ภาพ : WASP-96 b โดย DSS-Simbad, Carina Nebula หรือ Homunculus Nebula โดย Jon Morse (University of Colorado) & NASA Hubble Space Telescope - Hubble Site, Southern Ring Nebula โดย NASA/The Hubble Heritage Team (STScI/AURA/NASA), Stephan’s Quintet โดย NASA, ESA, and the Hubble SM4 ERO Team, SMACS 0723 โดย RELICS Treasury Program (GO 14096) with the NASA/ESA HST

เรียบเรียง : ดร. มติพล ตั้งมติธรรม นักวิชาการ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
 

อ้างอิง/อ่านเพิ่มเติม : [1] https://www.nasa.gov/.../nasa-shares-list-of-cosmic... 

 

เมื่อวันที่ 6 ก.ค.65 เพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ก่อนหน้านี้ข้อความว่า 12 กรกฎาคม 2022 เวลา 21:30 น. ตามเวลาประเทศไทย องค์การนาซาร่วมกับองค์การอวกาศยุโรป และองค์อวกาศแคนาดา จะเผยแพร่ภาพถ่ายสีที่มีความละเอียดสูงสุดจากห้วงอวกาศ นับเป็นภาพแรกที่ได้จากการทำงานเต็มรูปแบบของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์

 

ภาพจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ ที่เผยแพร่ก่อนหน้านี้ทั้งหมด แม้จะเป็นเพียงภาพที่ใช้เพื่อการทดสอบและปรับแก้ให้อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ติดตั้งอย่างสมบูรณ์ แต่ผลลัพธ์ที่ได้ก็แสดงให้เห็นถึงความคมชัดในระดับที่ไม่เคยมีกล้องโทรทรรศน์ใดทำได้มาก่อน และล่าสุดนาซาเผยว่า ขณะนี้ได้ผลลัพธ์จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ ที่ทำงานอย่างเต็มรูปแบบแล้ว เป็นภาพถ่ายที่ประมวลผลให้มีสีสันสวยงาม ทั้งยังให้ข้อมูลสเปกตรัมที่แสดงถึงองค์ประกอบของวัตถุดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตาม นาซายังไม่เปิดเผยว่าภาพถ่ายที่ว่านี้จะเป็นภาพวัตถุอะไร บอกใบ้เพียงว่า จะเป็นภาพของวัตถุอวกาศที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อการวิจัยหลักของกล้องเจมส์ เว็บบ์ ได้แก่

 

1. เอกภพยุคแรกเริ่ม

 

2. วิวัฒนาการของกาแล็กซี

 

3. วัฏจักรชีวิตของดาวฤกษ์

 

4. ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ

 

ภาพแรกจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศที่ล้ำสมัยที่สุดในประวัติศาสตร์จะเป็นภาพอะไร 12 กรกฎาคมนี้ ติดตามได้ที่เพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ !

 

ติดตาม Live ของนาซา เวลา 21:30 น. ตามเวลาประเทศไทย ได้ที่

https://www.nasa.gov/nasalive

 

ติดตามภาพและข้อมูลที่จะเผยแพร่ได้ที่

https://www.nasa.gov/webbfirstimages

 

ภาพกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ (James Webb Space Telescope: JWST) : NASA 

 

ที่มา :  NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ