กางกฎหมายแรงงานกรณี JSL เลิกจ้างพนักงาน จ่ายเงินชดเชยไม่เป็นธรรม

04 ก.ค. 2565 | 04:21 น.

กางกฎหมายแรงงานกรณี JSL ประกาศปิดตัว เลิกจ้างพนักงานจ่ายเงินชดเชยไม่เป็นธรรม จะจ่ายให้กับพนักงานเพียงร้อยละ 16 ของเงินชดเชยทั้งหมดตามกฎหมาย 

ประเด็นพนักงาน บริษัท เจเอสแอล โกลบอล มีเดีย จำกัด JSL ที่ถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ยังเป็นเรื่องที่ต้องจับตา เรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ให้กระทรวงฯ เข้าไปดูแลช่วยเหลือให้ลูกจ้าง JSL ได้รับสิทธิประโยชน์ความคุ้มครองตามกฎหมายอย่างใกล้ชิด

 

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ อดีตพนักงานบริษัท เจเอสแอล ในจำนวน 37 คน ที่ถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม เข้าปรึกษาด้านกฎหมายกับ นายเดชา กิตติวิทยานันท์ ทนายความ จากกรณี เมื่อวันที่ 29 มิถุนายนที่ผ่านมา บริษัท เจเอสแอล ได้ประกาศปิดตัว โดยระบุว่า JSL จะจ่ายให้กับพนักงานที่ถูกเลิกจ้าง เพียงร้อยละ 16 ของเงินชดเชยทั้งหมดตามกฎหมาย  

ซึ่งยอดเงินชดเชยเลิกจ้างที่ทางบริษัทต้องจ่ายให้ รวมเป็นเงินกว่า 31 ล้านบาท แต่ทางบริษัทบอกว่าจะให้เงิน 5 ล้านบาท ให้ไปแบ่งกันเอาเอง ซึ่งทางพนักงานเห็นว่าเป็นการเอาเปรียบ และการที่ทางบริษัทฯ ไม่จ่ายเงินค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างตามหลักเกณฑ์ ถือเป็นการไม่ปฎิบัติตามกฎหมายแรงงาน

 

ในประเด็นที่นายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฎิบัติตามเกี่ยวกับสิทธิการได้เงินลูกจ้างมีความประสงค์ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตเมื่อกาง  พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 123 ลูกจ้างมีสิทธิ์ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานแห่งท้องที่ที่ลูกจ้างทำงานอยู่หรือที่นายจ้างมีภูมิลำเนาอยู่ตามแบบที่อธิบดีกำหนด ซึ่งการที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง จะต้องจ่ายเงินชดเชยตามที่กฎหมายกำหนดทันที  

 

ขณะที่ตามมาตรา 124 เมื่อมีการยื่นคำร้องตาม มาตรา 123 ให้ พนักงานตรวจแรงงานสอบสวนข้อเท็จจริงและมีคำสั่งภายใน หกสิบวันนับแต่วันที่รับคำร้อง

 

กรณีที่มีความจำเป็นไม่อาจมีคำสั่งภายในเวลาตาม ให้พนักงานตรวจแรงงานขอขยายเวลาต่ออธิบดี หรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายพร้อมด้วยเหตุผล และอธิบดีหรือผู้ ซึ่งอธิบดีมอบหมายอาจพิจารณาอนุญาตได้ตามที่เห็นสมควร แต่ต้องมีระยะเวลาไม่เกิน 30 วันนับแต่วันที่ครบกำหนด ตามวรรคหนึ่ง

 

เมื่อพนักงานตรวจแรงงานสอบสวนแล้วปรากฎว่าลูกจ้าง มีสิทธิได้รับเงินอย่างหนึ่งอย่างใดที่นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่าย ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้ นายจ้างจ่ายเงินดังกล่าวให้แก่ลูกจ้างหรือทายาทโดยธรรม ของลูกจ้าง ตามแบบที่อธิบดีกำหนดภายใน 15 นับแต่วันที่ทราบหรือถือว่าได้ทราบคำสั่ง

 

ซึ่งในวันนี้ลูกจ้าง JSL ได้มายื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน ณ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 4 ขณะที่ในวันพรุ่งนี้ (5 กรกฎาคม 2565) เวลา 15.30 น. ลูกจ้าง JSL จะนัดรวมตัวกันเพื่อไปยื่นหนังสือต่อ “นายสุชาติ ชมกลิ่น” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อขอความช่วยเหลือติดตามสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ของลูกจ้างที่กระทรวงแรงงานอีกด้วย

 

"นายสุชาติ ชมกลิ่น” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

 

สำหรับการเลิกจ้างและการจ่ายค่าชดเชย พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ได้กำหนดหน้าที่ของนายจ้างและสิทธิของลูกจ้างกรณีการเลิกจ้าง ทั้งนี้โดยอาศัยหลักการตามอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่158 ที่กำหนดเรื่องการเลิกจ้าง คือ

 

  1. ห้ามนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยปราศจากเหตุผลอันสมควรที่เกี่ยวข้องกับความสามารถหรือพฤติกรรมของ ลูกจ้าง
  2. ลูกจ้างจะต้องได้รับการแจ้งให้ทราบล่วงหน้าก่อนการเลิกจ้างหรือได้รับค่าชดเชยหรือการชดเชยแบบอื่นๆ เว้นแต่ลูกจ้างจะกระทำความผิดอย่างร้ายแรง
  3. ในกรณีที่มีการเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม หากนายจ้างไม่สามารถรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานได้ลูกจ้างต้องได้รับเงินชดเชยอย่างเพียงพอ

 

 

จากหลักการเรื่องการเลิกจ้างตามอนุสัญญา ILO  พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้าง ทั้งนี้ การเลิกจ้างได้แก่ การที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด และการที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้าง เพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป โดยมีเจตนารมณ์ในการให้ความคุ้มครองลูกจ้างซึ่งต้องถูกเลิกจ้างให้ ได้รับค่าชดเชย ไม่ว่าจะเป็นกรณีนายจ้างเป็นฝ่ายให้ลูกจ้างออกจากงาน นายจ้างเลิกกิจการ หรือ ลูกจ้างต้องออกจากงาน เพราะสัญญาจ้างสิ้นสุดลง ยกเว้นกรณีดังต่อไปนี้

 

  • ลูกจ้างลาออกจากงานโดยสมัครใจ
  •    ลูกจ้างที่ทำสัญญากับนายจ้างโดยมีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน และนายจ้างเลิกจ้างตามกำหนด ระยะเวลานั้น สำหรับงานที่ต้องแล้วเสร็จภายใน 2 ปี โดยนายจ้างและลูกจ้างได้ทำสัญญาเป็นหนังสือไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มจ้าง และเป็นการจ้างงานใดงานหนึ่งที่ทำชั่วคราวในช่วงเวลาอันสั้นแล้วเสร็จสิ้นไป ซึ่งการว่าจ้างถือเอาความแล้วเสร็จของ งานเป็นสาระสำคัญในการกำหนดระยะเวลาการจ้าง ได้แก่งานดังต่อไปนี้

 

  1. งานในโครงการเฉพาะที่ไม่ใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของนายจ้างซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอน เช่น งานค้นคว้าทดลอง หรืองานสำรวจวิจัยซึ่งอาจเป็นการทำลองผลิตสินค้าชนิดใหม่ก่อน ซึ่งงานเหล่านี้มิใช่งานที่ทำเป็นปกติธุระในกิจการของนายจ้างนั้น
  2.  งานที่มีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุด หรือความสำเร็จของงาน
  3. งานที่เป็นไปตามฤดูกาลและได้จ้างในช่วงเวลาของฤดูกาล

 

แต่ถ้าเป็นการจ้างงานที่มีกำหนดระยะเวลาแน่นอนในงานอื่นซึ่งไม่ใช่งาน 3 ประเภทข้างต้น ก็ไม่ใช่กรณียกเว้นเรื่อง ค่าชดเชยรวมทั้งไม่อยู่ในกรณียกเว้นตามมาตรา 119 ด้วย จะมีสิทธิ ได้รับค่าชดเชยต่อเมื่อมีอายุงานตามเกณฑ์ที่กำหนดดังนี้

 

  • ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 30 วัน
  • ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 90 วัน
  • ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 180 วัน
  • ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 240 วัน
  • ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 10ปี ขึ้นไป จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 300 วัน

 

นอกจากนี้การเลิกจ้างครั้งนี้เป็นการเลิกจ้างบางส่วน ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจะได้รับสิทธิประโยชน์เงินทดแทน การขาดรายได้กรณีว่างงาน ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างที่นำส่งเงินสมทบเป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน

 

หลักเกณฑ์และสิทธิประโยชน์

หลักเกณฑ์ที่จะทำให้มีสิทธิ คือ เมื่อผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบในส่วนของกรณีว่างงานมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนการว่างงาน (ถูกเลิกจ้างหรือลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างตามกำหนดระยะเวลา) โดยไม่มีความผิดตามกฎหมาย

 

เงื่อนไขการเกิดสิทธิ์

  • ต้องขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานที่สำนักงานจัดหางานของรัฐภายใน 30 วันนับแต่วันที่ว่างงาน โดยไม่ต้องรอหนังสือรับรองการออกจากงาน เพื่อเป็นการแสดงสิทธิ์ในเบื้องต้น
  • มีความสามารถในการทำงาน และพร้อมที่จะทำงานที่เหมาะสมตามที่จัดหาให้
  • ต้องไม่ปฏิเสธการฝึกงาน
  • ต้องรายงานต่อเจ้าหน้าที่สำนักจัดหางาน ไม่น้อยกว่าเดือนละ 1 ครั้ง
  • ผู้ที่ว่างงานต้องไม่ถูกเลิกจ้างเนื่องจากกรณี / ทุจริตต่อหน้าที่ /กระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง / จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย / ฝ่าฝืนข้อบังคับ หรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายในกรณีร้ายแรง  / ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 7 วันทำงานติดต่อกัน โดยไม่มีเหตุอันควร / ประมาทเลินล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง / ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษา
  • ต้องไม่ใช่ผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ
  • มีสิทธิรับประโยชน์ทดแทนเริ่มตั้งแต่วันที่ 8 นับแต่วันว่างงานจากการทำงานกับนายจ้างรายสุดท้าย
  • ไม่เป็นผู้ประกันตนโดยสมัครใจตามมาตรา 39
  • และยังคงได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 38 กรณีเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ ตาย ต่อไปอีก 6 เดือน โดยไม่ต้องนำส่งเงินสมทบ

 

สำหรับลูกจ้างที่มีอายุ 55 ปีบริบูรณ์ สามารถเบิกสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพได้ หรือหากต้องการใช้สิทธิประกันสังคมต่อ สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนโดยสมัครใจตามมาตรา 39 ภายใน 6 เดือนหลังสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง 

 

กางกฎหมายแรงงานกรณี JSL เลิกจ้างพนักงาน จ่ายเงินชดเชยไม่เป็นธรรม

กางกฎหมายแรงงานกรณี JSL เลิกจ้างพนักงาน จ่ายเงินชดเชยไม่เป็นธรรม

 

อย่างไรก็ตาม  JSL มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่เลขที่ 154 ซอยลาดพร้าว 107 ถนนลาดพร้าว แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ประกอบกิจการ ประเภทผลิตรายการโทรทัศน์

 

ปัจจุบันมีพนักงานทั้งหมดประมาณ 130 คน เป็นชาย 70 คน และหญิง 60 คน บริษัทได้แจ้งเลิกจ้างพนักงาน จำนวน 89 คน เป็นลูกจ้างรายเดือนทั้งหมดให้มีผลการเลิกจ้าง ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา สาเหตุการเลิกจ้างเนื่องจากบริษัทขาดทุนสะสมมาโดยตลอด