เตือน! ไข้กาฬหลังแอ่นระบาด อาการยังไง อันตรายแค่ไหน กลุ่มใดเสี่ยง เช็คเลย

25 มิ.ย. 2565 | 21:11 น.

เตือน! ไข้กาฬหลังแอ่นระบาด อาการยังไง อันตรายแค่ไหน กลุ่มใดเสี่ยง เช็คเลยที่นี่มีคำตอบ หมอเฉลิมชัยเผยข้อมูลมีผู้ติดเชื้อ 26 ราย เสียชีวิต 7 ราย

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า

 

พบโรคเก่ามาระบาดใหม่อีกแล้ว โรคไข้กาฬหลังแอ่นระบาดที่รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา เสียชีวิตแล้ว 7 ราย จากผู้ติดเชื้อ 26 ราย

 

มีรายงานข่าวล่าสุดว่า มีการระบาดเป็นกลุ่มก้อน (Outbreak) ของโรคไข้กาฬหลังแอ่น (Meningococcal Disease)ในรัฐฟลอริดา

 

โดยจำนวนที่พบแล้ว มีผู้ติดเชื้อ 26 ราย เสียชีวิต 7 ราย ที่น่าสนใจมากคือพบในกลุ่มเกย์ (Gay) และชายที่มีเพศสัมพันธ์ได้ทั้งสองเพศ (Bisexual) มากถึง 24 ราย และเสียชีวิต 6 ราย

 

ประกอบกับในรัฐฟลอริดากำลังจะมีงานเฉลิมฉลองสำหรับกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ (Pride Events)

 

จึงทำให้เกิดคำแนะนำในรัฐฟลอริดาว่า แนะนำให้กลุ่มของ Gay และ Bisexual ที่อาศัยอยู่ในรัฐฟลอริดารับวัคซีนป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่น
 

ส่วนผู้ที่อยู่ในกลุ่มดังกล่าว แต่ไม่ได้อาศัยอยู่ในรัฐฟลอริดา จะมาร่วมงานเฉลิมฉลอง ให้ปรึกษาแพทย์เรื่องการรับวัคซีนด้วย

 

วันนี้เราจะมาทำความรู้จักเกี่ยวกับโรคไข้กาฬหลังแอ่นกัน
ในประเทศไทย เดิมเรียกชื่อโรค 2 ชื่อ คือ ไข้กาฬหลังแอ่น หรือ ไข้กาฬนกนางแอ่น เหตุที่เรียกว่าหลังแอ่นเพราะในผู้ป่วยบางรายมีอาการชักแล้วหลังแอ่นเกร็ง แต่โรคนี้ไม่ได้เกี่ยวกับนกนางแอ่นแต่อย่างใด ตอนหลังจึงเรียกแต่ชื่อ ไข้กาฬหลังแอ่น

 

เชื้อโรค : เกิดจากเชื้อแบคทีเรียกลุ่มเดียวกับหนองใน แต่เป็นคนละชนิดกัน คือ Neisseria meningitidis ไม่ได้ทำให้เกิดกามโรค

 

ระยะฟักตัว : ประมาณ 3-7 วัน

 

ไข้กาฬหลังแอ่นระบาด อาการยังไง อันตรายแค่ไหน

 

อาการของโรค : พบอาการเด่นสองระบบ ได้แก่

 

  • เยื่อหุ้มสมองและไขสันหลังอักเสบ  จะมีไข้ ปวดศีรษะ คอแข็ง สับสน คลื่นไส้ อาเจียนได้
  • มีการติดเชื้อในกระแสเลือด จะมีอาการไข้ หนาว อ่อนเพลีย อาเจียน ถ่ายเหลว หายใจเร็ว มือเท้าเย็น และที่สำคัญคือ จะมีผื่นสีม่วงเข้มเป็นจ้ำเลือดลักษณะดาวกระจาย มักจะอยู่ที่ลำตัวส่วนล่าง ขาและเท้า

 

การดำเนินของโรค : จะค่อนข้างฉับพลันรวดเร็ว และรุนแรง มีอัตราการเสียชีวิตประมาณ 10-20% และพิการ 10-20% เช่น หูหนวก ตาบอด ประสาทสมองส่วนกลางถูกทำลาย และสูญเสียแขนขา
 

อัตราการเสียชีวิตในกลุ่มเยื่อหุ้มสมองอักเสบ พบประมาณ 2-10%

 

แต่ในกลุ่มผู้ติดเชื้อในกระแสเลือดมีโอกาสเสียชีวิตสูง 70-80%

 

การรักษา : มียารักษาให้หายได้ แต่จำเป็นจะต้องให้รวดเร็ว เป็นกลุ่มยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เช่น เพนนิซิลลิน หรือคลอแรมเฟนิคอล

 

การป้องกันโรค : มีวัคซีนใช้ป้องกันโรคได้ แต่ไม่ได้ป้องกันได้ทุกสายพันธุ์  แบคทีเรียต้นเหตุในขณะนี้ พบแล้ว 6 สายพันธุ์ วัคซีนสามารถป้องกันได้ 4 สายพันธุ์

 

การติดต่อ : จะติดต่อผ่านทางสารคัดหลั่ง มักพบในเด็กและวัยรุ่น
ประเทศไทย : มีการพบผู้ติดเชื้อดังกล่าวประปรายมานานแล้ว ไม่ค่อยเกิดการระบาดเป็นวงกว้าง

 

แต่ครั้งนี้ในรัฐฟลอริดา มีการแถลงว่า ถือเป็นการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในหมู่ชายรักชายที่ถือว่ารุนแรงมากครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา

 

ในประเทศไทยเองจึงต้องระมัดระวังการติดต่อของโรคนี้ โดยเฉพาะในกลุ่ม Gay และ Bisexual