'สถานีกลันตัน - สถานีมักกะสัน' ชื่อนี้มีที่มา

20 มิ.ย. 2565 | 01:28 น.

เปิดที่มา ชื่อ 'สถานีกลันตัน' รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ตอบคำถามปมดราม่าโซเชียลวิจารณ์หนัก ซ้ำมาเลเซีย ขณะ เพจดัง แจง ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ควันหลง 'คลองกลันตัน' ส่วน สถานีมักกะสัน ชื่อเพี้ยนตั้งแต่สมัยอยุธยา

20 มิถุนายน 2565 - ความคืบหน้าของ รถไฟฟ้าสายสีเหลือง เส้นทาง ลาดพร้าว -สำโรง ซึ่งจะแล้วเสร็จ เปิดให้บริการช่วงเดือน ก.ย. 2565 ปรากฎชื่อ ' สถานีกลันตัน ' สร้างความถกเถียงในสังคมโซเชียลมีเดีย หลังจากชื่อดันไปเหมือนกับชื่อรัฐหนึ่งในมาเลเซีย ทั้งนี้ คงต้องยอมรับว่า หากไม่ใช่คนในพื้นที่ ก็มีความเป็นได้ที่ย่อมไม่รู้ที่มาของคำว่า 'กลันตัน' ดังกล่าว

ล่าสุด เพจโบราณนานมา ซึ่งเป็นพื้นที่ให้ความรู้เชิงประวัติศาสตร์ไทย ได้มีการกล่าวถึง ปมวิจารณ์ 'สถานีกลันตัน' ของรถไฟฟ้าสายสีเหลือง โดยบอกเล่าถึงที่มาของชื่อ ซึ่งเกี่ยวโยงกับความหลากหลาย และการอยู่อาศัยร่วมกันของชาติพันธุ์ ในไทยครั้งอดีต ควันหลัง 'คลองกลันตัน' เช่นเดียวกับ ชื่อ 'สถานีมักกะสัน' ซึ่งมีที่มาจาก “แขกมักกะสัน” และไม่ใช่เรื่องบังเอิญเช่นกัน  โดยมีใจความดังนี้ 


“สถานีกลันตัน - สถานีมักกะสัน” ชื่อนี้มีที่มา

ตอนนี้มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าใน กทม. หลายสาย เช่น รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ที่มีชื่อสถานที่น่าสนใจสถานีหนึ่ง คือ “สถานีกลันตัน” ที่มีชื่อสถานีดันไปเหมือนกับชื่อรัฐหนึ่งในมาเลเซีย นั่นคือ  “รัฐกลันตัน” หลายคนสงสัยว่าเป็นความบังเอิญหรือเปล่า ที่จริงไม่ได้เป็นความบังเอิญ แต่ชื่อ “สถานีกลันตัน” กับ “รัฐกลันตัน” มีความเกี่ยวข้องในแง่ประวัติศาสตร์จริง ๆ 

'สถานีกลันตัน - สถานีมักกะสัน' ชื่อนี้มีที่มา

สยามในอดีตและปัจจุบันมีหลายชาติพันธุ์ และในกรุงเทพฯ เองก็มีหลายชุมชนของหลากหลายชาติพันธุ์ เช่น ชุมชนชาวญวน ชาวลาว ชาวเขมร ชาวโปรตุเกส ชาวมลายู ฯลฯ ที่จะพูดถึง คือ “ชุมชนชาวมลายู” ซึ่งมาจากการเทครัวในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ - ๓ แล้วมาตั้งถิ่นฐานในกรุงเทพฯ เช่น ชุมชนบ้านแขก ชุมชน ชุมชนมุสลิมมหานาค ชุมชนมุสลิมพระประแดง มุสลิมย่านรามคำแหง มุสลิมคลองแสนแสบ ฯลฯ 

 

ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ - ๓ เกิดสงครามกับหัวเมืองมลายูขึ้นหลายครั้ง และเมื่อมีการทำสงครามสิ่งหนึ่งที่แถบอุษาคเนย์มักจะทำ คือ “การเทครัว (กวาดต้อนเชลยศึก)” เพราะสมัยนั้นทรัพยากรที่สำคัญที่สุด คือ “คน” ช่วงเวลานั้นจึงมีการกวาดต้อนเชลยศึกชาวมลายูมายังกรุงเทพฯ และไม่ได้มาพร้อมกันแต่มาหลายรอบ

 

  • สมัยรัชกาลที่ ๑ ปี ๒๓๒๙ กวาดต้อนเชลยศึกชาวปัตตานี (ปัจจุบันอยู่แถวแยกบ้านแขก และพระประแดง)
  • สมัยรัชกาลที่ ๒ ปี ๒๓๖๔ กวาดต้อนเชลยศึกชาวปัตตานีและชาวไทรบุรี (เคดะห์) 
  • สมัยรัชกาลที่ ๓ ปี ๒๓๘๑ กวาดต้อนเชลยศึกชาวกลันตัน ตรังกานู และหัวเมืองปักษ์ใต้อื่น ๆ

 

“ชาวกลันตัน” ที่ถูกกวาดต้นมานี้ ไม่ได้มาจากเมืองกลันตันแต่อย่างใด แต่มาจากเมืองปัตตานี เพราะสมัยนั้นราชวงศ์สุดท้ายที่ปกครองเมืองปัตตานี คิือ “ราชวงศ์กลันตัน” จึงมีชาวกลันตันที่อาศัยอยู่ในเมืองปัตตานีด้วย

 

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ มีการขุดคลองแสนแสบ เพื่อเป็นเส้นทางกองทัพไปรบกับญวน ยังได้มีการขุดคลองเพื่อเชื่อมคลองแสนแสบกับคลองพระโขนงโดยแรงงานชาวมลายูและคนกลันตันทางใต้ของสยาม จึงได้ตั้งชื่อคลองว่า “คลองกลันตัน” ภายหลังเรียกให้สั้นลงเหลือเพียง “คลองตัน”

 

และอีกชื่อสถานีหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือ “สถานีมักกะสัน” ที่ตั้งตามย่านมักกะสัน คำว่า “มักกะสัน” นี้มีมานานตั้งแต่สมัยอยุธยา เพี้ยนจากชื่อ “หมู่เกาะมากัสซาร์ (Makassar)” ในประเทศอินโดนีเซีย แต่คนที่ถูกเรียกว่า “แขกมักกะสัน” มีทั้งมาจากเกาะมากัสซาร์และเกาะซูลาเวซี (เซเลบีส)

 

คนไทยเรียกกันว่า “แขกมักกะสัน” เป็นเรื่องลือลั่นอยู่ในประวัติศาสตร์ไทย เมื่อพวกแขกจากเกาะเซเลบีส หรือ ซูลาเวซี ที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารสมเด็จพระนารายณ์ เกิดความคับแค้นใจจากพวกฝรั่งที่มีอิทธิพลในยุคนั้น จึงวางแผนจะชิงอำนาจสำเร็จโทษสมเด็จพระนารายณ์ แล้วบังคับพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ให้นับถือศาสนาเดียวกับตน พวกมากาซามีกริชคนละเล่มเป็นอาวุธประจำกาย แต่ฆ่าพวกฝรั่งและไทยที่ถือปืนไปเป็นจำนวนมาก ด้วยความอำมหิตผิดมนุษย์ ไม่กลัวแม้ความตาย
 

ที่มา : เพจโบราณนานมา