โรคฝีดาษลิงคืออะไร ติดต่อทางไหน อาการเป็นอย่างไร ตายได้ไหม อ่านด่วนเลย

20 พ.ค. 2565 | 20:11 น.

โรคฝีดาษลิงคืออะไร ติดต่อทางไหน อาการเป็นอย่างไร ตายได้ไหม อ่านด่วนเลยที่นี่มีคำตอบ หมอเฉลิมชัยชี้ขณะนี้ยังไม่พบในประเทศไทย

โรคฝีดาษลิงคืออะไร ติดต่อทางไหน อาการเป็นอย่างไร เป็นคำถามที่กำลังได้รับความสนใจบนโลกออนไลน์ หลังจากที่หลายประเทศเริ่มมีผู้ป่วยเกิดขึ้น

 

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า

 

โรคฝีดาษลิง หรือโรคไข้ทรพิษลิง โรคเก่าที่มาระบาดใหม่ในหลายประเทศ มาเรียนรู้ไปด้วยกัน

 

จากกรณีที่หลายประเทศพบฝีดาษลิง (Monkeypox) เช่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย เป็นต้น

 

จึงทำให้เกิดการตื่นตัวและมีผู้คนสนใจเกี่ยวกับฝีดาษหรือไข้ทรพิษลิงกันมากว่า เป็นตัวเดียวกับไข้ทรพิษหรือฝีดาษในคน ที่สูญพันธุ์ไปแล้วใช่หรือไม่

 

วันนี้จะมาเรียนรู้ ทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคดังกล่าวกัน

 

โรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษลิง เป็นโรคระบาดที่เรารู้จักกันมากกว่า 60 ปีแล้ว

กล่าวคือในปี 2501 พบครั้งแรกในลิงของอัฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก

 

นอกจากนั้นยังพบในสัตว์อีกหลายชนิด และติดต่อในคนได้ด้วย ประเทศที่พบในช่วงนั้นคือ แคเมอรูน คองโก กาบอง ไนจีเรีย ไลบีเรีย เป็นต้น

 

ในปี 2546 พบการติดฝีดาษลิงในสหรัฐอเมริกา โดยติดจากสัตว์ที่เรียกว่า Prairie Dog

 

ไวรัสที่ก่อ "โรคฝีดาษลิง" อยู่ในตระกูลใกล้เคียงกับไวรัสที่ก่อโรคฝีดาษในคน(Smallpox) และฝีดาษในวัว(Cowpox) คือ Orthopoxvirus

 

โดยพบว่าสัตว์ที่เป็นแหล่งกำเนิดโรค ได้แก่ สัตว์ในตระกูลลิงแอฟริกา สัตว์ฟันแทะ เช่น หนู กระรอก Prairie Dog และกระต่าย

 

โรคฝีดาษลิงคืออะไร ติดต่อทางไหน

 

โดยการติดต่อนั้น จะเป็นการติดต่อระหว่างสัตว์ไปหาสัตว์ หรือสัตว์มาหาคน ส่วนกรณีที่คนติดต่อคนด้วยกันนั้นจะพบค่อนข้างน้อย และมักเกิดจากการสัมผัสโดยตรงต่อเชื้อโรค มีส่วนน้อยมากที่สัมผัสผ่านการหายใจ

 

อาการเด่นของโรคนี้คือ หลังจากที่สัมผัสไปแล้ว 7-21 วัน ก็จะเริ่มปรากฏอาการไข้ ปวดศีรษะ หนาวสั่น เจ็บคอ ปวดกล้ามเนื้อ เพลีย และที่สำคัญจะพบต่อมน้ำเหลืองโต

 

หลังจากมีอาการได้ 1-3 วัน ก็จะเริ่มมีผื่นขึ้น โดยเริ่มต้นเป็นผื่นแดงเรียบ

 

แล้วต่อมานูนเป็นตุ่มน้ำใส และเปลี่ยนเป็นตุ่มหนอง จนกระทั่งตกสะเก็ดในที่สุด

 

ลักษณะของผื่นจะขึ้นที่ใบหน้า แขนขา และลำตัว มีอาการอยู่ประมาณ2-4 สัปดาห์
อัตราการเสียชีวิต 1-10% ซึ่งสูงกว่า โควิด-19 (Covid-19) มากพอสมควร

 

การป้องกัน พบว่าวัคซีนป้องกันฝีดาษในคน สามารถจะป้องกันได้ประมาณ 85%

การหลีกเลี่ยง คือการไม่สัมผัสกับตุ่มหนองหรือตุ่มน้ำใสของผู้สงสัยว่าป่วยเป็นฝีดาษลิง

 

ในกรณีที่สัมผัสเชื้อไปแล้ว สามารถฉีดวัคซีนป้องกันได้ถ้ายังไม่เลย 14 วัน

 

ขณะนี้ยังไม่มีฝีดาษลิงพบในประเทศไทย แต่จะต้องระมัดระวัง

 

เนื่องจากประเทศไทยได้ยุติการฉีดวัคซีนป้องกันฝีดาษหรือไข้ทรพิษที่เราเรียกว่าการปลูกฝีไป เมื่อประมาณราว 50 ปีมาแล้ว

 

ดังนั้นผู้ที่อายุต่ำกว่า 50 ปีลงมา จึงไม่มีใครมีภูมิต้านทานต่อฝีดาษแล้ว

 

โรคฝีดาษลิงคืออะไร ติดต่อทางไหน

 

ส่วนผู้ที่อายุมากกว่า50 ปีขึ้นไป ก็ไม่แน่ใจว่าจะมีระดับภูมิคุ้มกันที่จะพอป้องกันโรคนี้ได้มากน้อยเพียงใด

 

ดังนั้นจึงต้องติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดต่อไปว่า จะมีฝีดาษลิงแพร่ระบาดในโลกเรามากน้อยเพียงใด และมีหลุดรอดเข้ามาในประเทศไทยหรือไม่

 

สิ่งที่วงการสาธารณสุขจะต้องเตรียมตัวคือ จะต้องศึกษาหาความรู้ ทั้งสำหรับในการวินิจฉัย การป้องกัน และรักษาโรคนี้

 

เนื่องจากไม่มีฝีดาษในประเทศไทยและในโลกเรา มากว่าครึ่งศตวรรษแล้ว
จึงไม่มีการเรียนการสอนในคณะแพทยศาสตร์แต่อย่างใด