จริงหรือไม่ เมื่ออายุมากขึ้นความสูงจะลดลง เช็กหาคำตอบได้ที่นี่

02 พ.ค. 2565 | 21:09 น.

เมื่อมีอายุมากขึ้น ร่างกายย่อมเสื่อมสลาย แต่เป็นความจริงหรือไม่ว่า เมื่อมีอายุมากขึ้น ความสูงจะลดลง สาเหตุเพราะอะไร มัดรวมคำตอบให้แล้วที่นี่

โดยทั่วไปความสูงของคนเราจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น และความสูงจะเพิ่มขึ้นช้าลงในช่วงอายุ 18-20 ปี  และเมื่ออายุมากขึ้น หลายคนพบว่าส่วนสูงของตัวเองเริ่มลดลง เป็นความจริงหรือไม่

 

ล่าสุด รศ.พญ.คนึงนิจ กึ่งเพชร ฝ่ายรังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เปิดเผยในเรื่องนี้ว่า เป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้ เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยสูงอายุ โดยเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น

  • 1.ภาวะกระดูกสันหลังหักยุบจากโรคกระดูกพรุน

 

โรคกระดูกพรุนเป็นโรคที่มีความแข็งแรงของกระดูกลดลง ส่งผลให้กระดูกหักง่ายแม้ได้รับอุบัติเหตุไม่รุนแรง บริเวณที่พบกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุนได้บ่อย ได้แก่ กระดูกสันหลัง กระดูกสะโพก และกระดูกข้อมือ

 

  • 2.ภาวะกระดูกสันหลังเสื่อม ทำให้กระดูกสันหลังโก่งงอ

 

หลังค่อม ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ความสูงลดลงได้เช่นกัน

 

  • 3.การยุบตัวของหมอนรองกระดูกสันหลังจากการ

 

เสื่อมตามอายุ เมื่ออายุเพิ่มขึ้น ปริมาณน้ำภายในหมอนรองกระดูกจะลดลง ความสูงจึงลดลงตามไปด้วย

 

ทั้งนี้หากผู้สูงอายุมีความสูงลดลงอย่างน้อย 4 เซนติเมตร เมื่อเทียบกับความสูงในช่วงวัยหนุ่มสาว ควรต้องสงสัยโรคกระดูกพรุน และควรมาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยต่อไป

การวินิจฉัยโรคกระดูกพรุน

 

  • การตรวจวัดความหนาแน่นของมวลกระดูก ปัจจุบันนิยมวัดด้วยเครื่อง DXA ซึ่งเป็นวิธีการตรวจที่เป็นมาตรฐาน
  • การตรวจทำในบริเวณกระดูกสันหลังส่วนเอวและสะโพก

 

ผู้ที่ควรเข้ารับการตรวจความหนาแน่นของกระดูก 

 

  • ผู้หญิงอายุ ตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป
  • ผู้ชายอายุ ตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป
  • ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกพรุน เช่น รับประทานยาสเตียรอยด์เป็นประจำ

 

จริงหรือไม่ เมื่ออายุมากขึ้นความสูงจะลดลง  เช็กหาคำตอบได้ที่นี่

 

ที่มา : โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย