"หยุดชดเชยวันแรงงาน" พนักงานรายวันต้องได้ค่าจ้าง

02 พ.ค. 2565 | 06:05 น.

รู้หรือไม่ ? 2 พฤษภาคม "หยุดชดเชยวันแรงงาน" พนักงานรายวัน ก็ต้องได้ค่าจ้างจากนายจ้าง ตามกฎหมายแรงงาน มาตรา 56

2 พฤษภาคม 2565 - วันนี้เป็น วันหยุดชดเชยวันแรงงาน เป็นวันหยุดต่อเนื่อง หลังจาก วันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคม ตรงกับวันอาทิตย์ อย่างไรก็ตาม หลายคน ซึ่งเป็นพนักงาน หรือ ลูกจ้างรายวัน มีข้อสงสัย กรณีหยุดงานในวันนี้ จะได้รับค่าจ้างหรือไม่ 

 

ล่าสุด เพจกฎหมายแรงงาน โดย รองศาสตราจารย์ ตรีเนตร สาระพงษ์ ได้โพสต์ให้ความรู้ 'เรื่องการจ่ายค่าจ้างในวันหยุด'ไว้อย่างน่าสนใจว่า...
 

หยุดชดเชยวันแรงงาน พนักงานรายวันก็ต้องได้ค่าจ้าง

ในเรื่องการจ่ายค่าจ้างในวันหยุด เฉพาะวันหยุดประจำสัปดาห์เท่านั้น ที่พนักงานรายวันหยุดแล้วไม่ได้ค่าจ้าง

แต่ถ้าวันหยุดตามประเพณี 13 วัน หรือหยุดพักผ่อนประจำปี 6 วัน นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างด้วย  หลายคนยังเข้าใจผิดว่า "No work no pay" หรือวันใหนไม่มาทำงานก็ไม่จ่ายค่าจ้าง ต้องถือว่าเป็นความเข้าใจที่ผิด

 

เมื่อพิจารณามาตรา 56  ที่บัญญัติว่า "ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานสำหรับวันหยุด ดังต่อไปนี้
 

  1. วันหยุดประจำสัปดาห์ เว้นแต่ลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างรายวัน รายชั่วโมง หรือตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
  2. วันหยุดตามประเพณี
  3. วันหยุดพักผ่อนประจำปี

"หยุดชดเชยวันแรงงาน" พนักงานรายวันต้องได้ค่าจ้าง

จึงเห็นได้ว่ากฎหมายให้จ่ายค่าจ้างในวันหยุดแก่ลูกจ้างทุกประเภท เว้นแต่ใน (1) ที่กำหนดว่า "วันหยุดประจำสัปดาห์ เว้นแต่ลูกจ้างรายวัน รายชั่วโมง หรือตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย" ที่ไม่ต้องจ่าย
ข้อสังเกต
 
การเขียนกฎหมายในมาตรา 56 (1) มีคำว่าลูกจ้างรายชั่วโมง อาจทำให้เข้าใจว่าสามารถจ้างลูกจ้างเป็นรายชั่วโมง และจ่ายตามชั่วโมงที่ทำงานนั้น หากค่าจ้างได้มากกว่าค่าจ้างขั้นต่ำรายวันสามารถทำได้ แต่ถ้าได้น้อยกว่านั้นไม่สามารถทำได้