กรมการแพทย์เตือนโรคลมแดด หลังอากาศร้อนเกือบ 40 องศา เช็ควิธีป้องกันที่นี่

16 เม.ย. 2565 | 22:30 น.

กรมการแพทย์เตือนระวังโรคลมแดด หลังอากาศร้อนในประเทศไทยพุ่งเกือบแตะ 40 องศาเซลเซียส เช็ควิธีป้องกันที่นี่

จากกรณี กรมอุตุนิยมวิทยา ได้พยากรณ์อากาศในประเทศไทยระหว่างวันที่ 16-18 เมษายน 2565 ออกมาเตือนพายุฤดูร้อน ทำให้เกิดลมกรรโชกแรงในพื้นที่บางส่วนของประเทศไทย เนื่องจากอากาศร้อนอุณหภูมิเกือบ 40 องศาเซลเซียส ซึ่งอุณหภูมิที่สูงขึ้นตามลำดับนั้น

 

ล่าสุด นายวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคลมแดด หรือ Heat Stroke   เป็นภาวะ   ที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวหรือควบคุมระดับความร้อนภายในร่างกายได้ ทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นเรื่อยๆ เมื่ออุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้นจากการเผชิญกับสภาพอากาศที่มีความร้อนสูง เช่น การออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมท่ามกลางอากาศร้อนจัดเป็นเวลานาน ซึ่งพบว่ามีอุบัติการณ์เพิ่มมากขึ้นในฤดูร้อน อาการจะเริ่มจากอุณหภูมิร่างกายค่อยๆ สูงขึ้น เมื่อเกิน 40 องศาเซลเซียส ร่างกายจะไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้รู้สึกผิดปกติ ดังนี้

  • ปวดศีรษะ
  •  หน้ามืด
  •  กระสับกระส่าย
  • ซึม
  • สับสน
  • ชัก
  • ไม่รู้สึกตัว
  • ร่วมกับมีอาการคลื่นไส้อาเจียน
  • หัวใจเต้นเร็ว
  • หายใจหอบ
  • ตัวแดง

 

ถ้าปล่อยทิ้งไว้ให้มีอาการอาจส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อระบบสมอง หัวใจ ไต และกล้ามเนื้อ หากไม่ได้รับการรักษาอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนและทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ เมื่อพบผู้ที่มีอาการจากโรคลมแดด ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดโดยเร็ว

 

 

กรมการแพทย์

 

ขณะที่ นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคลมแดดสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน กลุ่มเสี่ยงของโรคลมแดดได้แก่

  • ผู้สูงอายุ
  • เด็กเล็ก
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวที่ยังไม่สามารถควบคุมได้
  • ผู้ที่ออกกำลังกายหรือใช้กำลังมากเป็นเวลานาน
  •  รวมถึงประชาชนทั่วไปและผู้ป่วยระยะพักฟื้น

 

วิธีป้องกัน

นายแพทย์ธนินทร์ กล่าวว่า สำหรับการป้องกัน สามารถทำได้โดยหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมในสภาพอากาศที่ร้อนจัดหรือกลางแจ้งเป็นเวลานานๆ หากสามารถเลี่ยงได้  ควรเลือกเวลา ที่ต้องการทำกิจกรรม เช่น

  • ช่วงเช้ามืด หรือระหว่างพระอาทิตย์ตกดิน
  • ผู้ที่ชอบออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมกลางแจ้งหรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่อุณหภูมิร้อนจัด
  • ควรดื่มน้ำให้มากเพียงพอ
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่ทำให้เกิดภาวะร่างกายขาดน้ำ เช่น เครื่องดื่มที่ผสมคาเฟอีน กาแฟ เหล้า เบียร์ เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้จะทำให้เสียน้ำทางปัสสาวะในปริมาณสูง หากไม่สามารถชดเชยน้ำได้มากพอ จะเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคลมแดดได้

 

หากจำเป็นต้องออกไปกลางแจ้งควรปกป้องตนเองจากแสงแดด โดยอุปกรณ์ป้องกันแสงแดด เช่น สวมใส่เสื้อผ้าที่มีคุณสมบัติระบายอากาศได้ดี หมวก ร่ม ถือเป็นหนึ่งอุปกรณ์ที่ควรพกติดตัวเมื่อต้องเผชิญกับสภาพอากาศร้อนจัด นอกจากนี้การอยู่ในรถที่ติดเครื่องยนต์กลางแจ้ง ซึ่งมีอันตรายมาก นอกจากต้องพบกับอากาศร้อนแล้ว ยังเพิ่มความเสี่ยงของการได้รับก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ซึ่งเป็นก๊าซพิษ ที่มีผลต่อระบบประสาทจึงควรหลีกเลี่ยงเช่นกัน อย่างไรก็ตามโรคลมแดดขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ ซึ่งผู้ที่เกิดอาการต้องได้รับความช่วยเหลือในทันที ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อสมองและอวัยวะ ที่สำคัญในร่างกาย.

 

ที่มา: กรมการแพทย์