13 เมษายน วันผู้สูงอายุแห่งชาติ สิทธิประโยชน์บัตรทองดูแลผู้สูงวัยครบวงจร

13 เม.ย. 2565 | 08:57 น.

“13 เมษายน วันผู้สูงอายุแห่งชาติ” กองทุนบัตรทอง ห่วงใยดูแล “ผู้สูงวัย” จัดสิทธิประโยชน์ ครอบคลุมทั้งรักษาพยาบาล ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ฟื้นฟูสมรรถภาพฯ พร้อมจับมือท้องถิ่นทั่วประเทศขับเคลื่อน กปท. เสริมสร้างสุขภาพดีๆ เพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้สูงอายุ

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า วันที่ 13 เมษายน ของทุกๆ ปี นอกจากเป็นวันสงกรานต์แล้ว คณะรัฐมนตรียังมีมติกำหนดให้เป็น “วันผู้สูงอายุแห่งชาติ” เพื่อให้ทุกคนเห็นถึงคุณค่าและตระหนักถึงความสำคัญของผู้สูงอายุ

 

ทั้งนี้ด้วยร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปตามวัยย่อมส่งผลต่อสุขภาพของผู้สูงอายุ ที่ผ่านมา สปสช.ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลประชาชนให้เข้าถึงการรักษาและบริการสาธารณสุขที่จำเป็นในทุกกลุ่มวัยภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง จึงให้ความสำคัญต่อสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลที่ดี

 

นอกจากสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลพยาบาลสำหรับผู้สูงอายุสิทธิบัตรทองที่ครอบคลุมโรคต่างๆ แล้ว สปสช. ยังให้ความสำคัญต่อการส่งสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคซึ่งเป็นสิทธิประโยชน์ที่ให้กับผู้สูงอายุทุกสิทธิ ได้แก่ บริการฉีดวัคซีนคอตีบและบาดทะยัก วัคซีนไข้หวัดใหญ่ (ผ้สูงอายุที่มีโรคเรื้อรังหรืออายุ 65 ปีขึ้นไป)

 

การตรวจและวัดดัชนีมวลกาย การวัดความดันโลหิต การตรวจเลือดคัดกรองเบาหวาน การติดเชื้อเอชไอวี การคัดกรองปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด การคัดกรองปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง และการคัดกรองโรคซึมเศร้า

ทั้งนี้ ยังมีการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ การคัดกรองรอยโรคเสี่ยงมะเร็งหรือมะเร็งช่องปาก การเคลือบฟลูออไรด์กลุ่มเสี่ยง การให้ความรู้ในเรื่องการออกกำลังกาย การให้ความรู้ตรวจเต้านมด้วยตนเอง การฝึกสมองป้องกันโรคสมองเสื่อมซึ่งมักเป็นภาวะที่พบในผู้สูงอายุ การตรวจประเมินความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวัน (ADL) การป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีหลังการสัมผัส และการให้คำปรึกษาแนะนำด้านสุขภาพต่างๆ

 

การฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์เป็นอีกหนึ่งบริการที่จำเป็นสำหรับผู้สูงอายุ และเป็นสิทธิประโยชน์บริการที่ สปสช. ดูแลผู้สูงอายุเพื่อให้กลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ ที่ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต ปีงบประมาณ 2564 มีผู้สูงอายุที่มีความจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูฯ จำนวน 397,248 คน รับบริการ 1,235,527 ครั้ง

ในเรื่องของบริการทันตกรรมหรือฟัน ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปมักจะมีปัญหาไม่มีฟันบดเคี้ยวเนื่องจากเป็นไปตามวัย สปสช. ยังได้จัดสิทธิประโยชน์บริการฟันเทียมให้ผู้สูงอายุสิทธิบัตรทอง ทั้งกรณีใส่ฟันเทียมทั้งปากและการใส่ฟันเทียมบางส่วนที่ถอดได้ ล่าสุดได้เพิ่มสิทธิประโยชน์สำหรับการฝังรากฟันเทียมด้วย ทั้งนี้เพื่อผู้สูงอายุไม่มีฟันได้รับการใส่ฟันเทียม เป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิต ช่วยให้มีฟันบดเคี้ยวอาหาร ได้รับโภชนาการที่ดี ช่วยให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพที่ดีขึ้น

 

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ในการดูแลผู้สูงอายุเพื่อให้เกิดการดูแลได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึงมากที่สุด โดยเฉพาะปัจจุบันที่ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้มีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นในทุกพื้นที่ ที่ผ่านมาภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กปท.) และกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร จำนวน 7,741 แห่ง มีการขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุผ่านโครงการต่างๆ อาทิ โครงการโรงเรียนผู้สูงอายุ โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ และโครงการพาผู้สูงอายุไปฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด ที่จัดตั้งแล้ว 52 แห่ง ที่ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่มีผู้สูงอายุเป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายการดูแลเช่นกัน 

 

ส่วนผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงนั้น จากงบประมาณเพิ่มเติมที่ได้รับจัดสรรจากรัฐบาล สปสช.ได้จัดบริการสาธารณสุขในผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง  มีผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงเป็นหนึ่งในเป้าหมายบริการ โดย สปสช. สนับสนุนค่าดูแลเหมาจ่ายผ่าน กปท. ซึ่งปีงบประมาณ 2564 มี อปท.เข้าร่วมดำเนินการ 6,648 แห่ง ทั้งนี้การดูแลไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้มีสิทธิบัตรทองเท่านั้น แต่รวมถึงสิทธิอื่นๆ ทั้งประกันสังคม ข้าราชการ เป็นต้น

 

“ทั้งหมดนี้ เป็นภาพรวมสิทธิประโยชน์กองทุนบัตรทองและการดำเนินงานของ สปสช. ที่ได้ตระหนักและให้ความสำคัญต่อผู้สูงอายุ โดยดำเนินการในทุกๆ ด้าน จับมือร่วมกับหน่วยงาน องค์กร และเครือข่ายภาคีต่างๆ โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข และ อปท. เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับบริการสุขภาพที่จำเป็นได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง สู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น” เลขาธิการ สปสช. กล่าว