14 เมษายน เป็นวันอะไร มีประวัติ ความสำคัญอย่างไร ที่นี่มีคำตอบ

13 เม.ย. 2565 | 17:10 น.

14 เมษายน เป็นวันครอบครัว มีประวัติและความสำคัญอย่างไร เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อใด สมัยรัฐบาลชุดไหน อ่านรายละเอียดได้ครบที่นี่

14 เมษายน ของทุกปี เป็นวันครอบครัว (Family Day) หรือ "วันครอบครัวแห่งชาติ" ที่กำหนดขึ้นเพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของสถาบันครอบครัว รากฐานสำคัญของทุกคนซึ่งไม่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้นที่กำหนดให้มีวันนี้ขึ้น เพราะในหลายประเทศทั่วโลกต่างก็มี วันแห่งครอบครัว แต่อาจมีการกำหนดช่วงวันและเดือนที่แตกต่างกันออกไปเท่านั้น

 

สำหรับในประเทศไทยกำหนดให้ "วันครอบครัว" ตรงกับวันที่ 14 เมษายนของทุกปีซึ่งเป็นช่วงเทศกาลวันสงกรานต์ หรือ วันปีใหม่ไทยด้วย นับเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมเพราะคนไทยไม่ว่าจะทำงานหรือพักอาศัยอยู่ที่ไหนก็จะเดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อไปรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ไหว้ขอพรจากพ่อแม่ ใช้เวลาทำกิจกรรมต่างๆ อย่างพร้อมหน้าพร้อมตากัน การกำหนดให้วันครอบครัวตรงกับช่วงเทศกาลสงกรานต์ก็เพื่อให้สมาชิกในครอบครัวได้มีโอกาสกลับไปพบปะกันนั่นเอง

ประวัติ-ความสำคัญของ "วันครอบครัว"

"ครอบครัว" ถือเป็นสถาบันพื้นฐานทางสังคมที่มีความสำคัญยิ่งเพราะมีบทบาทในการอบรมเลี้ยงดู ส่งต่อถ่ายทอดวัฒนธรรมและค่านิยมจากรุ่นสู่รุ่นซึ่งประเทศไทย ครอบครัวจะไม่ใช่มีเพียงแค่พ่อแม่และลูกเท่านั้นแต่จะอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวใหญ่ มีทั้งพ่อ แม่ ลูก พี่ ป้า น้า อา และญาติผู้ใหญ่อาศัยอยู่รวมกัน ทำให้คนไทยมีความสนิทสนมกลมเกลียวกันของสมาชิกภายในครอบครัว แม้ว่าปัจจุบันคนรุ่นใหม่จะนิยมหันมาสร้างครอบครัวเดี่ยวกันมากขึ้นแต่ก็ยังคงให้ความสำคัญกับสถาบันครอบครัวอยู่เสมอ

สำหรับ "วันครอบครัวไทย" ได้กำหนดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2532 ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ โดยคุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้เป็นผู้เสนอมติให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในการกำหนดให้ทุกวันที่ 14 เมษายน ของทุกปี เป็นวันครอบครัว หลังจากที่ ครม.มีมติอนุมัติเห็นชอบจึงได้ประกาศใช้วันครอบครัวไทยเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2533 และใช้สืบต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

 

กิจกรรมในวันครอบครัวแห่งชาติ

ในส่วนของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนมักจัดให้มีกิจกรรมมอบรางวัลให้แก่ครอบครัวดีเด่น ครอบครัวต้นแบบ รวมถึงสมาชิกในครอบครัวที่มีแบบอย่างที่ดี เพื่อส่งเสริม สนับสนุนและให้กำลังใจในการปฏิบัติตนเป็นสถาบันตัวอย่างที่ดีให้แก่สังคม

ในขณะที่ประชาชนคนไทยส่วนใหญ่มักจะนิยมรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่โดยผู้ที่มีอายุน้อยกว่ามักจะเข้าไปไหว้ขอพรผู้หลักผู้ใหญ่ในครอบครัว รวมถึงการพบปะสังสรรค์กันของคนภายในครอบครัวที่อาจไปทำงานต่างที่ต่างถิ่นได้กลับมาพบเจอกัน ถือเป็นวันสำคัญที่สมาชิกในครอบครัวได้ร่วมกันทำกิจกรรมอย่างพร้อมหน้าพร้อมตากัน