พบคนไทยความสุขลดลง พยายามเอาตัวรอดจากเศรษฐกิจ

08 เม.ย. 2565 | 08:32 น.

“ฮาคูโฮโด” เผยผลสำรวจล่าสุด พบคนไทยความสุขลดลง พยายามเอาตัวรอดจากเศรษฐกิจ เน้นรายได้จากหลายช่องทาง แต่ไม่ลืมครอบครัว เสนอแบรนด์ควรให้ความสำคัญกับครอบครัว ความปลอดภัย และมั่งคั่ง

สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) หรือ Hakuhodo Institute of Life and Living ASEAN (THAILAND) รวมกับบริษัทในเครือฯ ฮาคูโฮโด เฟิร์ส (ประเทศไทย) Hakuhodo First (Thailand) เผยผลสำรวจการคาดการณ์พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศไทยประจำเดือนเมษายน พ.ศ. 2565 พบว่า การแพร่ระบาดของโควิดทำให้ ค่าความสุขคนไทยลดลง 

พบคนไทยความสุขลดลง  พยายามเอาตัวรอดจากเศรษฐกิจ

คนไทยให้ความสำคัญกับสินค้าที่เกี่ยวข้องกับครอบครัวและสุขภาพ พร้อมใส่ใจความมั่งคั่งและความปลอดภัยมากขึ้น พร้อมให้ข้อเสนอแนะแก่แบรนด์ต่าง ๆ ในการเร่งทำการตลาดเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ในครอบครัว อาทิ ชวนคลายเครียดด้วยกิจกรรมใหม่ ๆ เน้นเสริมความสัมพันธ์กับครอบครัวแต่ยังปลอดภัยหลบโควิด หรือเสนอโปรโมชันช่วงซัมเมอร์ที่แปลกใหม่ ที่สามารถส่งความรักความห่วงใยถึงกันได้มากขึ้น

ผลสำรวจประจำเดือนเมษายน พ.ศ. 2565 เผยให้เห็นถึงภาพรวมของค่าความสุขคนไทยลดลงเมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์ไวรัสโควิด ที่ยังคงระบาดอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองซึ่งสร้างความกังวลใจให้กับคนไทยเป็นอย่างมาก ส่งผลให้คนไทยหันมาใส่ใจในเรื่องของความปลอดภัยความมั่งคั่ง และการจับจ่ายใช้สอยอย่างระมัดระวัง

  พบคนไทยความสุขลดลง  พยายามเอาตัวรอดจากเศรษฐกิจ

ชุติมา วิริยะมหากุล  ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) กล่าวว่า “จริง ๆ แล้วคนไทยนั้นชอบช้อป แต่เนื่องด้วยสถานการณ์ต่างๆ ตอนนี้ ทำให้สินค้าหลายๆ อย่างมีราคาสูงขึ้น ทั้งสินค้าอุปโภคและบริโภค ทำให้คนไทยระมัดระวังเรื่องของการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น และซื้อของที่ไม่จำเป็นลดลง”

 

แนวโน้มความต้องการในการใช้จ่ายจากผลสำรวจการคาดการณ์พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศไทยประจำเดือนเมษายน พ.ศ. 2565 พบว่า รายการสินค้าที่ผู้บริโภคไทยให้ความสำคัญมากที่สุดในช่วงนี้ได้แก่ อาหาร ของใช้ในชีวิตประจำวัน และโทรศัพท์มือถือ ตามลำดับ สาเหตุเกิดจากการเตรียมตัวให้พร้อมต้อนรับช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพื่อสังสรรค์กับครอบครัว เน้นซื้อของที่จำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวัน และยังคงให้ความสำคัญกับการซื้อของต่าง ๆ เพื่อคนในครอบครัว

“แม้จะมีข้อจํากัดจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 แต่คนไทยยังคงให้ความสำคัญกับความสำคัญกับครอบครัวและเครือญาติ อย่างการรวมตัวกันเพื่อเฉลิมฉลองในวันปีใหม่ไทย และการไหว้บรรพบุรุษ แต่จะถูกปรับเปลี่ยนวิธีมาเป็นการเฉลิมฉลองด้วยวิธีที่ปลอดภัยอย่างการฉลองที่บ้าน แทนการออกไปนอกสถานที่  ทำให้ผลสำรวจออกออกมาสอดคล้องกับพฤติกรรมการซื้ออาหารกักตุนไว้ที่บ้านช่วงสงกรานต์”  ดวงแก้ว ไชยสุริวิรัตน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ บริษัท ฮาคูโฮโด เฟิร์ส (ประเทศไทย) กล่าวเสริม

 

อย่างไรก็ตาม สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) กลับพบอีกประเด็นหนึ่งที่แบรนด์ควรให้ความสำคัญ ได้แก่ ประเด็นด้านสงคราม การเมือง เศรษฐกิจ การลงทุน และอาชญากรรม ที่ส่งผลให้สินค้าอุปโภคและบริโภคมีราคาสูงขึ้น ทำให้คนไทยมองหาความมั่งคั่งมากกว่างานที่มั่นคง เพื่อให้มีรายได้ที่มากขึ้นชดเชยกับค่าใช้จ่าย และต้องวางแผนการจับจ่ายให้รัดกุมมากขึ้น ลดการเดินทางและการท่องเที่ยว แต่ยังคงใส่ใจครอบครัวด้วยการซื้อของให้ญาติผู้ใหญ่ในวันสำคัญเพื่อสื่อความห่วงใยแม้ตัวห่างไกลกัน

 

เพื่อให้แบรนด์สามารถทำการตลาดได้สอดคล้องกับสถานการณ์ช่วงซัมเมอร์นี้ พรนภัส สุลัยมณี นักวางแผนกลยุทธ์ ฮาคูโฮโด เฟิร์ส (ประเทศไทย) ได้ให้คำแนะนำว่า

1.            แบรนด์ควรชวนคลายเครียดด้วยกิจกรรมใหม่ๆ เน้นเสริมความสัมพันธ์กับครอบครัวแต่ยังปลอดภัยหลบโควิด เพราะเทศกาลสงกรานต์เป็นช่วงเวลาของครอบครัว ที่แบรนด์สามารถเข้าไปเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ  เปลี่ยนบรรยากาศการเฉลิมฉลองกับครอบครัว สนับสนุนการอุปโภคและบริโภคสินค้าภายในบ้านที่ดีต่อสุขภาพและจิตใจเป็นหลัก เพื่อชดเชยข้อจำกัดด้านการเดินทางท่องเที่ยว หรือ กลับบ้านไปหาครอบครัวในช่วงโควิดโอไมครอนนี้

2.            เสนอโปรโมชันช่วงซัมเมอร์ที่แปลกใหม่ พร้อมสนับสนุนการส่งความรักความห่วงใยถึงกัน เพื่อต้อนรับช่วงเวลาที่สำคัญของครอบครัว อย่างการส่งมอบความรักความห่วงใยให้กับครอบครัวหรือคนที่เรารักแม้อยู่ห่างไกลกัน

  พบคนไทยความสุขลดลง  พยายามเอาตัวรอดจากเศรษฐกิจ

“สถานการณ์เช่นนี้ถือเป็นความท้าทายของทุกๆ ฝ่ายในการที่จะต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ แม้ว่าโควิด- 19 จะทำให้เราไม่สามารถเดินทางไปท่องเที่ยวที่ไหนไกล แต่เรายังสามารถแสดงความห่วงใยให้คนที่เรารักและกระชับความสัมพันธ์กับสมาชิกในครอบครัวหรือคนสำคัญในชีวิตของเราได้ สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) เราเล็งเห็นถึงช่องว่างนี้ และหวังว่าแบรนด์ต่างๆ จะนำข้อเสนอแนะนี้ไปปรับใช้กับแผนการตลาดของตน เพื่อให้สามารถรับมือกับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดเข้มข้นสู่เศรษฐกิจฝืดเคือง และเพิ่มความสุขให้คนไทยในไตรมาสต่อไปได้”   พรนภัส กล่าวปิดท้าย