โควิดโอมิครอนหลบภูมิจากวัคซีนเก่งแค่ไหน ติดแล้วเป็นได้อีกหรือไม่ อ่านเลย

30 มี.ค. 2565 | 20:11 น.

โควิดโอมิครอนหลบภูมิจากวัคซีนเก่งแค่ไหน ติดแล้วเป็นได้อีกหรือไม่ อ่านเลยที่นี่ หมอมนูญยกกรณีตัวอย่างผู้ป่วยหญิงอายุ 90 ปี ทั้งฉีดวัคซีนครบโดส และเคยติดโควิดมาแล้ว

โอมิครอน (Omicron) เป็นเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ของโควิด-19 (Covid-19) ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในปัจจุบัน โดยในประเทศไทยประมาณ 99.95% ของจำนวนผู้ติดเชื้อเป็นโอมิครอนทั้งหมด

 

นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ (หมอมนูญ) ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC) โดยมีข้อความระบุว่า 

 

ต้องยอมรับเชื้อไวรัสโควิดโอมิครอนเป็นสายพันธุ์ที่เก่งจริงๆ สามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นไม่ว่าจากเคยได้รับวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงครบ 2 เข็มแล้วตามด้วยเข็มกระตุ้น 

 

หรือเคยติดเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์อื่นก่อนหน้านี้ หรือเคยได้รับโมโนโคลนอลแอนติบอดี REGEN-COV มาก่อนซึ่งสามารถจะเพิ่มภูมิต้านทานป้องกันการติดเชื้อเดลตาซ้ำอีก และอยู่ในร่างกายได้นานถึง 8 เดือน
 

ผู้ป่วยหญิงอายุ 90 ปี เป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นผิดจังหวะ กินยาละลายลิ่มเลือด ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า 2 เข็ม 

 

เดือนมิถุนายนและสิงหาคม 2564 ติดเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตา

 

วันที่ 21 ตุลาคม 2564 มีไข้ ไอ น้ำมูกไหล ตาแดง เนื่องจากคนไข้มีความเสี่ยงสูงที่จะป่วยรุนแรง ได้ให้โมโนโคลนอลแอนติบอดี  REGEN-COV ทางเส้นเลือด ไม่ให้ยาฟาวิพิราเวียร์ คนไข้ดีขึ้นเร็วมาก กลับบ้านได้ภายใน 1 สัปดาห์ 

 

หลังหายแล้วได้แนะนำให้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์อีก 1 เข็มเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันเดือนกุมภาพันธ์ 2565

 

วันที่ 24 มีนาคม 2565 มีอาการไข้ต่ำๆ มีน้ำมูก ไอบ้าง ไม่เจ็บคอ ไม่เหนื่อย วัดระดับออกซิเจนปกติ เอกซเรย์ปอดปกติ ตรวจ ATK ให้ผลบวก เนื่องจากมีอาการน้อยกว่าครั้งที่แล้วมาก 

 

ได้แนะนำให้ผู้ป่วยรักษาตัวที่บ้าน และกินยาตามอาการ ไม่ให้ยาฟาวิพิราเวียร์ คนไข้ดีขึ้นเอง หายเป็นปกติใน 5 วัน
  

ผู้ป่วยรายนี้ขายของที่บ้าน มีคนมาซื้อของทุกวัน มีภูมิคุ้มกันจากการได้รับวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงครบโดสและได้เข็มกระตุ้นแล้ว  

 

เคยมีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติจากการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตาเมื่อ 5 เดือนก่อน 

 

เคยได้รับโมโนโคลนอลแอนติบอดีเมื่อ 5 เดือนก่อน ซึ่งสามารถจะอยู่ในร่างกาย มีภูมิต้านทาน 

 

และป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาซ้ำได้นานถึง 8 เดือน ก็ยังไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอนได้ 

 

ปัจจุบันเป็นที่ทราบดีว่าประสิทธิภาพของโมโนโคลนอลแอนติบอดีชนิดฉีด REGEN-COV ต่อเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอนลดลงมากเมื่อเทียบกับสายพันธุ์เดลตา ไม่สามารถนำมาใช้ป้องกันและรักษาเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน

 

ผู้ป่วยรายนี้อายุ 90 ปี เป็นเบาหวาน ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนซ้ำอีก มีอาการน้อยมากต่างจากครั้งแรก เพราะมีภูมิคุ้มกันมากเพียงพอ 

 

แม้จะป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนไม่ได้  แต่ช่วยลดความรุนแรงของโรคลงได้