20 มี.ค.วันวสันตวิษุวัต เวลากลางวันยาวนานเท่ากับกลางคืน

18 มี.ค. 2565 | 06:56 น.

รู้จัก"วันวสันตวิษุวัต" วันที่เวลากลางวันยาวนานเท่ากับเวลากลางคืน เช็คเลยปรากฎการณ์นี้จะตรงกับวันไหนบ้าง แต่ละปีจะเกิดขึ้นกี่ครั้ง

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) ได้ประกาศว่าในวันที่ 20 มีนาคม 2565  วันวสันตวิษุวัต จะเวียนกลับมาอีกครั้ง โดยวันดังกล่าวจะมีช่วงเวลากลางวันยาวนานเท่ากับกลางคืน ดวงอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดี ถือเป็นวันเปลี่ยนฤดูกาลเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิของประเทศทางซีกโลกเหนือ และเปลี่ยนสู่ฤดูใบไม้ร่วงของประเทศทางซีกโลกใต้

 

วสันตวิษุวัตแปลว่าอะไร


“วสันตวิษุวัต” (วะ-สัน-ตะ-วิ-สุ-วัด) (Vernal Equinox) คำว่า “วิษุวัต” (Equinox) เป็นภาษาสันสกฤตหมายถึง “จุดราตรีเสมอภาค” จุดที่ดวงอาทิตย์อยู่ในตำแหน่งตั้งฉากกับเส้นศูนย์สูตรของโลกพอดี ส่งผลให้เป็นที่มาของชื่อว่าวิษุวัตต่าง ๆ คือวันที่มีเวลากลางวันและกลางคืนยาวเท่ากัน

 

โดยวันดังกล่าวเกิดขึ้นเพียง 2 ครั้งต่อปี คือช่วงเริ่มต้นของฤดูใบไม้ผลิ เรียกว่า วันวสันตวิษุวัต (Vernal Equinox) และช่วงเริ่มต้นฤดูใบไม้ร่วง เรียกว่า วันศารทวิษุวัต (Autumnal Equinox)  

เกี่ยวกับการขึ้นและตกของดวงอาทิตย์


แต่ละวันดวงอาทิตย์จะปรากฏในตำแหน่งต่างกัน เปลี่ยนตำแหน่งไปประมาณวันละ 1 องศา ตั้งแต่เดือนธันวาคมเป็นต้นมา ดวงอาทิตย์ค่อย ๆ เคลื่อนจากจุดใต้สุดขึ้นมาทางเหนือ เมื่อดวงอาทิตย์เคลื่อนมา ณ ตำแหน่งตั้งฉากกับเส้นศูนย์สูตรของโลก ดวงอาทิตย์จะขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออกและตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตกพอดี 

 

สำหรับประเทศไทย วันดังกล่าวดวงอาทิตย์ขึ้น เวลาประมาณ 06:22 น. และจะตกลับขอบฟ้า เวลาประมาณ 18:28 น. (เวลา ณ กรุงเทพมหานคร) นับเป็นวันเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิของประเทศทางซีกโลกเหนือและเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วงของประเทศในซีกโลกใต้ 

 

ตำแหน่งการขึ้นและตกของดวงอาทิตย์ในรอบปี

การเกิดฤดูกาลบนโลก

ฤดูกาลเกิดจากแกนโลกเอียงทำมุม 23.5 องศา กับแนวตั้งฉากกับระนาบโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ทำให้พื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลกได้รับแสงอาทิตย์ในปริมาณไม่เท่ากัน ส่งผลให้มีอุณภูมิต่างกัน รวมถึงระยะเวลากลางวันและกลางคืนก็ต่างกันด้วย 

 

เหตุนี้ทำให้เกิดฤดูกาลขึ้นบนโลกนั่นเอง จะสังเกตได้ว่าในฤดูร้อนเวลากลางวันจะยาวกว่ากลางคืน ดวงอาทิตย์จะขึ้นเร็วและตกช้า แตกต่างกับฤดูหนาวเวลากลางคืนจะยาวนานกว่ากลางวัน ดวงอาทิตย์จะขึ้นช้าและตกเร็ว 

ปรากฏการณ์ต่อไปที่เกี่ยวข้องกับการขึ้นและตกของดวงอาทิตย์


“วันครีษมายัน” (Summer Solstice) ในวันที่ 21 มิถุนายน 2565 เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันยาวที่สุดและกลางคืนสั้นที่สุดในรอบปี สำหรับประเทศทางซีกโลกเหนือ นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูร้อน ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้ นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูหนาว