เช็คเงื่อนไข UCEP Plus ผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง-แดง รักษาโควิดฟรี ที่นี่

08 มี.ค. 2565 | 18:18 น.

เช็คเงื่อนไข UCEP Plus หลัง ครม.มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์ วิธีการกำหนดค่าใช้จ่าย ผู้ป่วยติดโควิดกลุ่มสีเหลือง-แดง รักษาฟรี อ่านรายละเอียดครบที่นี่

จากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ล่าสุด (8 มี.ค.65) เห็นชอบหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด 19 ให้ได้รับสิทธิเข้ารับการรักษาฉุกเฉิน ที่เรียกว่า UCEP Plus โดยสามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทุกแห่งที่ใกล้ที่สุด ไม่จำเป็นต้องเป็นโรงพยาบาลตามสิทธิที่ตัวเองมีอยู่และสามารถย้ายโรงพยาบาลได้โดยไม่กำหนดระยะเวลาใน 72 ชั่วโมงแรกไม่มีค่าใช้จ่ายซึ่งให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2565 เป็นต้นไปนั้น รายละเอียดจะเป็นอย่างไร มีเงื่อนไขอะไรบ้าง ที่นี่มีคำตอบให้

 

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อธิบายว่า สิทธิที่มีการปรับปรุงนี้ เรียกว่า UCEP Plus โดยสิทธิดังกล่าวนี้จะเปิดโอกาสให้มีการส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินรุนแรงจากโรงพยาบาลหนึ่งไปเข้ารับการรักษาใน ICU ของอีกโรงพยาบาลได้ภายหลัง 72 ชั่วโมงแรก

 

ในส่วนของผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มสีเหลืองและสีแดง ที่แพทย์วินิจฉัยว่า เข้าเกณฑ์วิกฤติฉุกเฉินตามเกณฑ์ที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้กำหนดแนวทางและเกณฑ์ประเมินคัดแยกระดับความฉุกเฉินเอาไว้แล้วให้สามารถเข้ารับการรักษาฉุกเฉินในโรงพยาบาลได้ทุกแห่งโดยไม่กำหนดระยะเวลา 72 ชั่วโมงแรก ตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่ปรับปรุงใหม่นี้

ผู้ป่วยโควิด 19 ที่เข้าข่ายตามเกณฑ์ที่กำหนดสามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้ทุกแห่งตามสิทธิ UCEP Plus ได้

ผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง คือ เริ่มมีอาการปอดอักเสบ มี 2 ระดับ

  • ต้องใช้เครื่องให้ออกซิเจนแคนนูลา
  • ต้องใช้ออกซิเจนไฮโฟลว์

ผู้ป่วยกลุ่มสีแดง คือ ใช้เตียงระดับ 3 ต้องนอนในไอซียู หรือต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ซึ่งบุคลากรจะมีเกณฑ์ในการเประเมินอาการเพื่อนำเข้าสู่ รพ.อยู่แล้ว

นอกจากอาการเฉพาะของโรคโควิด 19 ที่เข้าเกณฑ์วิกฤติฉุกเฉินแล้วยังมีอีก 6 อาการที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กำหนดไว้ ดังนี้ 

  • หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ
  • หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรงหายใจติดขัดมีเสียงดัง
  • ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น
  • เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง
  • แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีกพูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วนหรือชักต่อเนื่องไม่หยุด
  • อาการอื่นที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต และระบบสมองที่เป็นอันตรายต่อชีวิต

ในขณะที่กลุ่มผู้ป่วยโควิด-19 ที่ "ไม่มีอาการ" หรือ "อาการไม่รุนแรง" หรือที่เรียกว่า กลุ่มสีเขียว ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะไม่นับเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติตามนิยาม UCEP Plus แต่ยังสามารถเข้ารับการรักษาฟรีในโรงพยาบาลตามสิทธิของแต่ละคนได้ อาทิ สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า สิทธิประกันสังคม หรือสิทธิรักษาพยาบาลของข้าราชการและแนะนำให้การดูแลแบบ Home Isolation (HI) หรือ Community Isolation(CI) หรือ Hotel Isolation

 

สำหรับสาระสำคัญของหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ กรณีโรคโควิด 19 มีดังนี้ คือ

 

1.กำหนดให้สถานพยาบาลต้องจัดให้มีการรักษาพยาบาลโดยฉุกเฉิน เพื่อให้พ้นจากอันตรายตามมาตรฐานวิชาชีพและขีดความสามารถของสถานพยาบาลโดยไม่มีเงื่อนไขในการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการดูแลรักษา

 

2.ให้สถานพยาบาลแจ้งต่อกองทุนของผู้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม หรือกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทนหรือจากส่วนราชการ  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐทราบโดยเร็ว

 

3.กำหนดให้กรณีที่มีปัญหาการวินิจฉัยในการคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติให้ปรึกษาศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉิน ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง เพื่อดำเนินการวินิจฉัย โดยคำวินิจฉัยของศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินให้ถือเป็นที่สุด ซึ่งแนวทางการคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ และแบบแจ้งผลการคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติให้เป็นไปตามที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกำหนด

 

ทั้งนี้ ครม.ยังมีมติให้ กระทรวงการคลัง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ คณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน หน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ เอกชน หรือกองทุนอื่นที่มีวัตถุประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดบริการด้านการแพทย์ หรือสาธารณสุขดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขดังกล่าว และดำเนินการจ่ายค่าใช้จ่ายในอัตราตามบัญชีแนบท้ายหลักเกณฑ์ รวมถึงแก้ไขปรับปรุง กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่อนุมัติในครั้งนี้ด้วย