Bangkok และ Krung Thep Maha Nakhon ชื่อนี้มีความหมาย-ที่มาอย่างไร  

16 ก.พ. 2565 | 10:07 น.

ชื่อ บางกอก (Bangkok) และ กรุงเทพมหานคร (Krung Thep Maha Nakhon) เมืองหลวงของประเทศไทยนั้น มีความหมายและที่มาอย่างไร "ฐานเศรษฐกิจ" ประมวลไว้ให้แล้ว เรามาย้อนอดีตไปด้วยกัน

จากกรณีเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (15 ก.พ.) คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี กำหนดชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครอง และเมืองหลวง ตามที่ ราชบัณฑิตยสภา เสนอ พบมีการแก้ไขชื่อเมืองหลวงภาษาอังกฤษจาก Bangkok เป็น Krung Thep Maha Nakhon โดยให้เก็บชื่อเดิมไว้ในวงเล็บ(Bangkok) เพื่อใช้เป็นมาตรฐานของทางราชการ ซึ่งต่อมาทางราชบัณฑิตยสภา ยืนยันแล้วว่า "กรุงเทพ มหานคร" ใช้ได้ทั้ง “Krung Thep Maha Nakhon “ และ”Bangkok”  

 

เรื่องนี้ ทำให้ผู้คนหันมาให้ความสนใจกับชื่อทั้งสองของ กรุงเทพฯ อีกครั้ง ว่ามีความเป็นมาอย่างไร ทำไมถึงมีชื่อเรียกแตกต่างกัน 2 ชื่อ

 

ในส่วนของชื่อ Bangkok นั้น มาจากชื่อ “บางกอก” ซึ่งเป็นชื่อเรียกมาแต่ดั้งเดิมสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยสมัยต้นกรุงศรีอยุธยา "กรุงเทพฯ" ยังเป็นเพียงหมู่บ้านที่เรียกกันว่า "บางกอก"

มีหลักฐานจากโบราณวัตถุปรากฏว่า เมืองบางกอก นั้นไม่ได้เพิ่งมาเป็นเมืองสำคัญในช่วงสมัยของกรุงศรีอยุธยา แต่มีความสำคัญมาตั้งแต่สมัยก่อนหน้านั้นเสียอีก โดยในแผนที่ทะเล และแผนที่โบราณที่ชาวต่างประเทศได้ทำไว้ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา จะปรากฏตำแหน่งที่ตั้งของเมืองธนบุรีในชื่อของ “บางกอก” โดยมีการสะกดแตกต่างกันไปว่า Bangkok, Bancoc, Bancok, Banckok, Bankoc, Banckock, Bangok, Bancocq หรือ Bancock และในบางแผ่นเขียนคำว่า “Siam” อันหมายถึง ประเทศสยาม ไว้ตรงที่ตั้งของบางกอก

 

ส่วนคำว่า Bangkok ที่ใช้สะกดเป็นชื่อเมืองบางกอก หรือกรุงรัตนโกสินทร์ในปัจจุบันนั้น เป็นคำที่ฝ่ายสังฆราชผู้เป็นใหญ่ในคริสต์ศาสนาที่กรุงศรีอยุธยา ใช้เมื่อเขียนถึงบางกอก ทุกครั้งที่ท่านเขียนรายงานไปยังสำนักงานใหญ่ที่กรุงปารีส และได้ใช้เรื่อยมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ และจนทุกวันนี้

พระบรมมหาราชวัง

ความหมายของ “บางกอก”

พูดถึงในแง่ความหมายของ “บางกอก” นักประวัติศาสตร์บันทึกไว้จากสันนิษฐานที่หลากหลาย บางท่านก็ว่า “บางกอก” นั้น อาจจะมาจากการที่แม่น้ำเจ้าพระยาคดเคี้ยวไปมา อีกทั้งบางแห่งมีสภาพเป็นเกาะ บางแห่งมีสภาพเป็นโคก พื้นที่ไม่สม่ำเสมอนัก จึงเป็นที่มาของคำว่า "บางเกาะ" หรือ "บางโคก"

แต่ในหนังสือจดหมายรายวันของท่านบาทหลวงเดอ ชวาสี ซึ่งหลวงสันธานวิทยาสิทธิ์ เป็นผู้แปล และเรียบเรียง ได้ให้เหตุผลไว้ว่า บางกอกคือจังหวัดธนบุรี ซึ่ง "บาง" แปลว่า "บึง" ส่วน "กอก" แปลว่าน้ำ (กลายเป็นแข็ง) หรือน้ำกลับไปเป็นดิน หรือที่ลุ่มกลายเป็นดอน แต่ไม่ได้บอกว่ากอกนั้นเป็นภาษาอะไร

 

อย่างไรก็ตาม บางท่านสันนิษฐานว่า “บางกอก” อาจจะมาจากคำว่า "Benkok" ซึ่งเป็นภาษามลายู แปลตามตัวว่า คดโค้ง หรืองอ อ้างว่า แม่น้ำในบางกอกสมัยก่อนนั้นคดโค้งอ้อมมาก ชาวมลายูที่มาพบเห็นจึงพากันเรียกเช่นนั้น

 

นอกจากนี้ ยังมีนักประวัติศาสตร์อีกท่านหนึ่ง อ่านพบในจดหมายของท้าวเทพสตรี ที่มีไปถึงกัปตันไลต์ หรือพระยาราชกัปตัน ให้ข้อคิดเห็นว่า "Bangkok" ที่ฝรั่งแต่โบราณเขียนนั้น บางทีเขียนเป็น Bangkoh อ่านว่า "บางเกาะ" ซึ่งสอดคล้องกับบันทึกหนึ่งที่กล่าวว่า "บางกอก" หมายถึง พื้นที่ที่เป็นเกาะ เนื่องจากการขุดคลองลัดในสมัยพระชัยราชาธิราช ได้ทำการขุดจากบริเวณสะพานปิ่นเกล้าลงไปจนถึงหน้าวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร (วัดแจ้ง) ทำให้พื้นที่ทางฝั่งธนบุรีในปัจจุบันกลายสภาพเป็น "เกาะ" ต่อมาจึงเรียกว่า บางเกาะ แล้วจึงเพี้ยนมาเป็น บางกอก

 

บ้างก็ว่า บริเวณนั้นแต่เดิมเป็น “ป่ามะกอก” มีต้นมะกอกเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงได้เอาชื่อของต้นมะกอกมาเรียกเป็นชื่อตำบลว่า ตำบลมะกอก หรือ "บางมะกอก" โดยคำว่า "บางมะกอก" มาจากวัดมะกอก ซึ่งเป็นชื่อเดิมของวัดอรุณฯ และต่อมาได้มีการกร่อนคำลงจึงเหลือแต่คำว่า "บางกอก"

 

“กรุงเทพมหานคร” ชื่อสถานที่ที่ยาวที่สุดในโลก

ส่วนชื่อ “กรุงเทพมหานคร” ซึ่งเป็นชื่อพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 เมื่อ 200 กว่าปีที่แล้วนั้น กินเนสบุ๊ค เวิลด์ เรคคอร์ด ได้จัดอันดับให้เป็นชื่อสถานที่ที่ยาวที่สุดในโลก (ประกาศในเดือนธ.ค.ปี 2560) โดยมีถึง 169 ตัวอักษร ยาวกว่าชื่อภูเขาตาอูมาตาวากา ตังกีฮังกาโก อาอูอาอูโอ ตามาทีอา โปกาอีเวนูอากี ตานาตาฮู ในประเทศนิวซีแลนด์ที่มี 85 ตัวอักษร และชื่อทะเลสาบ ชาร์ก๊อกกาก๊อก มานชาอ๊อกกาก๊อก เชาบูนากุนกามาอัก ในรัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มี 45 ตัวอักษร

 

ทั้งนี้ ชื่อเต็มๆ ของกรุงเทพฯ เขียนได้ดังนี้คือ กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์

 

มีความหมายว่า พระนครอันกว้างใหญ่ดุจเทพนคร เป็นที่สถิตของพระแก้วมรกต เป็นนครที่ไม่มีใครรบ

ชนะได้ มีความงามอันมันคงและเจริญยิ่ง เป็นเมืองหลวงที่บริบูรณ์ด้วยแก้วเก่าประการ น่ารื่นรมย์ยิ่ง

มีพระราชนิเวศใหญ่โตมากมาย เป็นวิมานเทพที่ประทับของพระราชาผู้อวตารลงมา ซึ่งท้าวสักกเทว

ราชพระราชทานให้พระวิษณุกรรมลงมาเนรมิตไว้

 

ชื่อของกรุงเทพมหานครนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งเป็นผู้ทรงสถาปนามหานครแห่งนี้ ได้ทรงพระราชทานไว้เมื่อ 240 ปีก่อน หรือเมื่อปีพ.ศ. 2325

 

โดยในการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ในปี 2325 นั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมีพระราชประสงค์ที่จะรักษาสัญลักษณ์ต่าง ๆ ของกรุงศรีอยุธยาที่เสียไปให้กลับคืนมา เช่น พระนามพระมหาปราสาทต่างๆ ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ของเจ้าพระยาทิพากรวงษ์ (ขำ บุนนาค) มีบันทึกไว้ว่า

 

“ครั้นเสร็จการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดให้จัดการสมโภชพระนครต่อเนื่องกันไป ให้นิมนต์พระสงฆ์ทุกๆพระอารามทั้งในกรุงและนอกกรุง ขึ้นสวดพระพุทธมนต์บนเชิงเทินทุกๆใบเสมา ๆ ละรูปรอบพระนคร ขอแรงให้ข้าราชการทำข้าวกระทงเลี้ยงพระสงฆ์ทั้งสิ้น แล้วให้ตั้งโรงทานรายรอบพระนคร พระราชทานเลี้ยงยาจกวนิพกทั้งปวง แล้วให้ตั้งต้นกัลปพฤกษ์ตามวงกำแพงรอบพระนคร ทิ้งทานต้นละชั่ง 3 วัน สิ้นพระราชทรัพย์เป็นอันมาก ให้มีการมหรสพต่างๆ และมีละครผู้หญิงโรงใหญ่ เงินโรงวันละ 10 ชั่ง เป็นการสมโภชวัดพระศรีรัตนศาสดารามด้วยครบ 3 วันเป็นกำหนด

 

ครั้นเสร็จการฉลองพระนครแล้ว จึงพระราชทานนามพระนครใหม่ให้ต้องกับนามพระพุทธรัตนปฏิมากรว่า“กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์”

 

จะเห็นว่าเดิมนั้น รัชกาลที่1 ทรงใช้คำว่า “บวรรัตนโกสินทร์” เพิ่งมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่4 ทรงแปลงสร้อยที่ว่า “บวรรัตนโกสินทร์” เป็น “อมรรัตนโกสินทร์” แทน นอกนั้นคงไว้ตามเดิม

 

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ระบุว่า ชื่อเต็มของกรุงเทพมหานครเมื่อถอดเป็นอักษรโรมัน คือKrungthepmahanakhon Amonrattanakosin Mahintharayutthaya Mahadilokphop Noppharatratchathaniburirom Udomratchaniwetmahasathan Amonphimanawatansathit Sakkathattiyawitsanukamprasit

 

ประกอบด้วยอักษร 169 ตัว จึงเป็นชื่อสถานที่ที่ยาวที่สุดในโลกดังกล่าวข้างต้น