ประกาศโควิดเป็นโรคประจำถิ่นเป็นไปไม่ได้ เหตุผลจากอะไร อ่านเลยที่นี่

29 ม.ค. 2565 | 05:14 น.
อัพเดตล่าสุด :29 ม.ค. 2565 | 13:18 น.

ประกาศโควิดเป็นโรคประจำถิ่นเป็นไปไม่ได้ เหตุผลจากอะไร อ่านครบจบที่นี่ หมอยงแจงเวลานี้โควิด-19 ยังระบาดทั่วโลก ไม่ลดลงมาระบาดอยู่เฉพาะถิ่นใดถิ่นหนึ่งแน่นอน

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ โพสต์ข้อความว่า

 

 

โควิด-19 (Covid-19) กับความหมาย  “โรคประจำถิ่น” 

 

 

หมอยง ระบุว่า ในระยะนี้เราจะได้ยิน โรคโควิด-19  กับ โรคประจำถิ่น
คำว่า “โรคประจำถิ่น” ที่จริงมาจาก “endemic”  เป็นการที่โรคระบาดที่เกิดขึ้นเฉพาะท้องที่ เช่น

 

 

โรคไข้เหลือง เป็นโรคประจำถิ่นในแอฟริกา โรคปอดบวมตะวันออกกลาง (MERS) ประจำถิ่นอยู่ในตะวันออกกลาง และถ้าระบาดใหญ่ทั่วโลก ข้ามทวีป ก็เรียกว่า “pandemic”

 

 

โรคโควิด-19 ยังคงระบาดทั่วโลกอยู่แน่นอน ไม่ลดลงมาระบาดอยู่เฉพาะถิ่นใดถิ่นหนึ่งแน่นอน ดังนั้นจึงไม่มีโอกาสที่จะเกิดเฉพาะถิ่น หรือ ประจำถิ่น

โรคระบาดเราจะมีโรคติดต่อทั่วไป  (communicable disease) เช่น หัด คอตีบ และโรคติดต่อ ที่เราพบมาตั้งแต่ในอดีต และสามารถควบคุมได้ด้วยวัคซีน เราก็ไม่เรียกว่า โรคประจำถิ่น

 

 

โรคติดต่อ มีจำนวนมากมาย ถ้าโรคนั้นมีความร้ายแรง มีความรุนแรง อัตราตายสูง หน่วยงานกระทรวงสาธารณสุข จะประกาศ เป็น “โรคติดต่ออันตรายร้ายแรง” เพื่อการควบคุม ป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสีย 

 

 

 

และเรายังมี พรบ โรคติดต่ออันตรายร้ายแรง เพื่อเข้ามาควบคุม โรคนั้นจะอยู่ในบัญชีของพระราชบัญญัติโรคติดต่ออันตรายร้ายแรง

 

 

 

โควิด-19 หมดโอกาสเป็นโรคประจำถิ่น

 

 

โรค covid-19 ก็เช่นเดียวกัน ที่ผ่านมาเราถือว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายร้ายแรง โรคนี้จึงอยู่ในบัญชีตามพระราชบัญญัติ เพื่อใช้กฎหมายมาควบคุมดูแล
 
 

ถ้าในอนาคต โรค covid-19 มีความรุนแรงน้อยลง และเราต้องอยู่กับโรคนี้เหมือนกับ อยู่กับโรคทางเดินหายใจอื่นๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ ที่จะมาตามฤดูกาล เราก็ไม่ได้ถึงกับควบคุมดูแลแบบโรคติดต่ออันตรายร้ายแรง

 

 

ดังนั้น โรคโควิด-19 จึงไม่มีโอกาสที่จะเป็น “โรคประจำถิ่น” เพราะยังคงระบาดทั่วโลก และเป็นไปไม่ได้ที่จะระบาดอยู่เฉพาะถิ่น  

 

 

แต่ถ้าในอนาคต โรคโควิด-19 ความรุนแรงน้อยลง และมีอัตราการป่วยเข้าโรงพยาบาล ไอซียู เสียชีวิต ลดลงอย่างมาก เพราะประชากรส่วนใหญ่มีภูมิต้านทาน ตัวไวรัสเองลดความรุนแรงลง  

 

 

และถ้าโรคนี้ คล้ายไข้หวัดใหญ่ ก็จะเรียกว่าโรคโควิด-19 ตามฤดูกาล เช่นจะระบาดมากในฤดูฝน หรือ “โรคติดต่อทั่วไป” โดยที่การดูแลและควบคุม 

 

 

และ กฎเกณฑ์ การรายงาน ควบคุม ดูแลรักษา และป้องกันตามปกติคล้ายโรคทางเดินหายใจทั่วไป​ เช่นไข้หวัดใหญ่

 

 

 

สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศวันที่ 29 มกราคม 2565 นั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลจาก ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. พบว่า มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น     8,618 ราย  

 

 

ผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 ม.ค.65) 200,655 ราย  เสียชีวิตเพิ่ม 19 ราย หายป่วยเพิ่ม 8,358 ราย กำลังรักษา 83,939 ราย หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 ม.ค.65) 149,512 ราย