เส้นทางนักรบ “คปภ.-เจ้าสัวเจริญ” ตัดสิน “เจอจ่ายจบ”

17 ม.ค. 2565 | 06:22 น.

คนไทยต่างจับตา การยื่นฟ้องศาลปกครองโดยสองบริษัทประกันภัยในเครือไทยโฮลดิ้งส์ของเจ้าสัวเจริญ ซึ่งทั้ง 2 ต่างเป็นความหวังของแต่ละฝ่าย ทั้งผู้บริสุทธิ์ที่เอาประกันโควิดกว่า 10 ล้านกรมธรรม์ และธุรกิจประกันภัยที่ต้องแบกรับต่อไป

** จุดเริ่มต้น ยกเลิกกรมธรรม์ “เจอ จ่าย จบ”

 

เริ่มต้นจาก เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 บมจ.สินมั่นคงประกันภัย(SMK) ออกมาใช้สิทธิ ‘บอกเลิกกรมธรรม์’ ประกันภัยการติดเชื้อโควิด-19 ชนิด เจอ จ่าย จบ ซึ่งเป็นไปตามแบบและข้อความ หมวดที่ 2 เงื่อนไขทั่วไป และข้อกำหนด ข้อ 2.4.3 และข้อ 2.5.1 โดยให้กรมธรรม์ประกันภัยข้างต้นสิ้นสุดความคุ้มครองทั้งฉบับ เมื่อล่วงพ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ผู้เอาประกันได้รับหนังสือเป็นต้นไป โดยที่สินมั่นคงฯ จะคืนค่าเบี้ยประกันภัยให้ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่กรมธรรม์สิ้นผลบังคับใช้

 

จากกรณีดังกล่าว คปภ. ได้เรียกประชุมผู้บริหารเร่งด่วนเพื่อพิจารณาเการบอกเลิกกรมธรรม์ เจอจ่ายจบ โดยผลสรุปออกมาว่าอาจส่งผลกระทบต่อผู้ซื้อกรมธรรม์จำนวนมาก จึงได้มีการออกคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 ให้ยกเลิกเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโดยบริษัทในกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย 

 

จากคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 ส่งผลให้สิทธิ ‘บอกเลิกกรมธรรม์ เจอจ่ายจบ ของ สินมั่นคงฯ ต้องหยุดไปในที่สุด

** ของเดิมยังไม่หาย “โอมิครอน” ซ้ำแผลเก่า

 

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงปลายปี 2564 เหมือนจะดีขึ้นจากหลักหมื่นรายต่อวันเหลือหลักพันรายต่อวัน แต่ เมื่อสายพันธุ์โอมิครอนเริ่มระบาด เหล่าบริษัทประกันภัยเริ่มขนลุกเกลียวหวั่นซ้ำรอยแผลเก่า จนสมาคมประกันวินาศภัย ต้องยื่นอุทธรณ์ไปยังคณะกรรมการ คปภ. เพื่อขอพิจารณายกเลิกคำสั่งนายทะเบียน 38/2564 และ คำสั่งนายทะเบียนที่ 17/2564 

 

โดยคำสั่งนายทะเบียน 38/2564 ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 เรื่องให้ยกเลิกเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 เนื่องจาก สมาคมมองว่าผิดหลักการที่เคยปฏิบัติกันมา เพราะการออกคำสั่งเปลี่ยนแปลงแก้ไขเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยที่นายทะเบียนเคยให้ความเห็นชอบไว้แล้วก่อนหน้า จะบังคับใช้เฉพาะการออกกรมธรรม์ประกันภัยฉบับใหม่หลังวันที่คำสั่งเปลี่ยนแปลงแก้ไขมีผลบังคับแล้วเท่านั้น 

 

นอกจากนี้ เนื่องจากศาลปกครองสูงสุดได้วางบรรทัดฐานไว้ว่า ฝ่ายปกครองไม่มีอำนาจออกกฎหรือคำสั่งทางปกครอง ให้มีผลย้อนหลังที่เป็นโทษหรือเป็นผลร้ายต่อผู้อยู่ภายใต้ปกครอง การให้คำสั่งมีผลบังคับย้อนหลังดังกล่าว ยังถือว่าเป็นการทำลายหลักการบริหารความเสี่ยงของบริษัทประกันวินาศภัย เพราะจะทำให้ภาพความเสี่ยงโดยรวมนั้นต่างไปจากภาพความเสี่ยง ณ วันที่บริษัทประกันภัยได้ยื่นขอรับความเห็นชอบจากนายทะเบียน และจะทำให้อัตราเบี้ยประกันภัยที่ได้กำหนดไว้เดิมไม่สอดคล้องกับความเสี่ยงที่เปลี่ยนไป เนื่องจากเงื่อนไขในการรับประกันภัยได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ และอาจเป็นเหตุให้บริษัทประกันภัยตัดสินใจไม่รับประกันภัยตั้งแต่ต้นหากไม่มีการกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวไว้ในกรมธรรม์

ส่วนการอุทธรณ์คำสั่งนายทะเบียนที่ 17/2564 ลงวันที่ 12 เมษายน 2564 เรื่อง การรักษาพยาบาลตามกรมธรร์ประกันภัยหรือเอกสารแนบท้าย เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย ซึ่งการอุทธรณ์คำสั่งนี้มีประเด็นสำคัญจากการออกคำสั่ง ซึ่งได้ขยายความคุ้มครองในกรมธรรม์ประกันภัยที่เคยได้รับความเห็นชอบทั้งเงื่อนไขและอัตราเบี้ยประกันภัยจากนายทะเบียนไปแล้ว ส่งผลให้บริษัทประกันภัยต้องรับผิดชอบความคุ้มครองเพิ่มเติม โดยไม่ได้มีการคำนวณเบี้ยประกันภัยรองรับไว้ตั้งแต่ต้น 

 

 

** วิบากกรรม คปภ. ปกป้องผู้บริสุทธิ์ 10 ล้านกรมธรรม์

 

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. ชี้แจ้งต่อศาลปกครอง ยืนยันว่า การออกคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 สั่งห้ามบริษัทประกันภัย บอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิด ฯ แบบ ‘เจอ จ่าย จบ’ เป็นดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมาย

 

ทั้งนี้ แม้จะมีข้อความที่ให้สิทธิคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดบอกเลิกโดยต้องแจ้งล่วงหน้าเป็นเวลา 30 วัน ก็ไม่ได้หมายความว่าบริษัทจะสามารถบอกเลิกได้ โดยไปอ้างว่ามีความเสี่ยงเปลี่ยนไปหรือจะขาดทุน แล้วบอกเลิกแบบเหมาเข่ง แทนที่จะเลือกวิธีการอื่นที่ไม่เป็นการรอนสิทธิ เนื่องจากแนวทางเช่นนี้ จะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคที่บริสุทธิ์เป็นจำนวนมาก 

 

ล่าสุด เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2565 ศาลปกครองกลางได้รับคำฟ้องคดีปกครอง หมายเลขดำที่ 44/2564 โดยมี บมจ.อาคเนย์ประกันภัย และ บมจ.ไทยประกันภัย ได้ยื่นฟ้อง สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ.

 

โดยคำฟ้อง ได้ขอให้ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษา ใน 2 ประเด็นดังนี้

 

1.พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 เรื่องให้ยกเลิกเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย ฉบับลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ออกคำสั่ง

 

2.ขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 เรื่องให้ยกเลิกเงื่อนไขใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย ฉบับลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 ไว้เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษาคดี หรือจนกว่าศาลจะมีคำสั่งหรือคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น

 

 

**  ‘เครือไทยโฮลดิ้ง’ เจ้าสัวเจริญ ขาดทุนยับจากกรมธรรม์โควิด-19

 

หนึ่งกลุ่มบริษัทประกันภัยที่โดนผลกระทบจากกรมธรรม์โควิด-19 อย่างหนัก นั่นก็คือ บมจ.อาคเนย์ประกันภัย และ บมจ.ไทยประกันภัย ซึ่ง “เครือไทยโฮลดิ้ง” ของเจ้าสัวเจริญ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

 

โดยผลดำเนินงานงวดไตรมาส 3 ปี 2564 ที่ขาดทุนสุทธิกว่า 662 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 89.86 ล้านบาท หรือคิดเป็นผลการดำเนินงานที่แย่ลงถึง 836% ซึ่งเป็นการขาดทุนครั้งแรกในรอบหลายปี โดยสาเหตุสำคัญมาจากกรมธรรม์ประกันภัยโควิดเป็นหลัก 

 

สำหรับผลดำเนินงานย้อนหลังของ “เครือไทยโฮลดิ้งส์” พบว่ามีกำไรสุทธิต่อเนื่องในช่วงระหว่างปี 2561-2563

 

ปี 2561 กำไรสุทธิ 998.10 ล้านบาท

ปี 2562 กำไรสุทธิ 304.92 ล้านบาท

ปี 2563 กำไรสุทธิ  728.45 ล้านบาท

 

จากรายงานข่าวในวงธุรกิจประกันวินาศภัย แสดงให้เห็นว่าตอนนี้อาคเนย์ประกันภัยและไทยประกันภัยกำลังประสบปัญหาขาดทุนยับ ทั้งสองบริษัทมีเงินกองทุนรวมกันแค่ 3,000 ล้านบาท แต่จ่ายเคลมประกันโควิดเจอจ่ายจบเป็น 10,000 ล้านบาทไปแล้ว ขณะที่ก่อนหน้านี้ได้เพิ่มทุนไปแล้ว 6,000 ล้านบาทด้วย ดังนั้นจึงทำให้ทางบริษัทออกมาฟ้องศาลปกครอง ซึ่งขนาดบริษัทยักษ์ใหญ่ยังประสบปัญหา ซึ่งเท่าที่ทราบก็มีอีกหลายบริษัทที่อาการหนักเช่นกัน ทุกบริษัทก็รอลุ้นคำสั่งของศาลปกครองว่าจะออกมาอย่างไร

 

 

** ศาลปกครองยังไม่มีคำสั่ง คดี “อาคเนย์” ฟ้องเลขาธิการ คปภ.

 

เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2565 เวลา 9.00 น. ศาลปกครองกลาง นัดไต่สวนคดีหมายเลขดำที่ 44/2565 ระหว่างบริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ยื่นฟ้องเลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กรณีออกคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 โดยห้ามบริษัทประกันภัยบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัย โควิด-19 แบบ “เจอ-จ่าย-จบ” ถือเป็นการออกคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทางผู้ฟ้องคดีจึงขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งนายทะเบียนดังกล่าว และในระหว่างที่กำลังพิจารณาคดี ขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว หรือ ทุเลาการบังคับใช้คำสั่งนายทะเบียนดังกล่าว

 

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า สำหรับวัตถุประสงค์ของการมาชี้แจงต่อศาลปกครองวันนี้ ประการแรก ไม่ใช่แค่มาแก้ต่างคดี แต่ตั้งใจมาทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชน หรือ ผู้เอาประกันภัยโควิดกว่า 10 ล้านกรมธรรม์ หากยอมให้บริษัทประกันภัย บอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิดฯ แบบ “เจอ-จ่าย-จบ” ได้ ผู้เอาประกันภัยประเภทนี้ อาจะถูกลอยแพ ประการที่ 2 คปภ.ไม่ต้องการให้เกิดบรรทัดฐานที่ไม่ถูกต้อง เพราะก่อนที่บริษัทประกันภัยจะออกกรมธรรม์จำเป็นต้องมีความระมัดระวัง และคำนวณความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นให้ชัดเจน เพราะสิ่งที่รับประกันนั้น คือ ความเสี่ยง ถามว่าถ้าให้บริษัทประกันภัยอาศัยเหตุผลความเสี่ยงเปลี่ยนไปมาเป็นข้ออ้างในการบอกเลิกกรมธรรม์ ทั้งประกันชีวิต หรือ วินาศภัย ประชาชนจะทำประกันภัยไปเพื่ออะไร ซึ่งบรรทัดฐานที่ไม่ถูกต้อง อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น หรือ ความน่าเชื่อถือของระบบประกันภัยได้ คปภ.จึงจำเป็นต้องต่อสู้คดีให้ถึงที่สุด

 

“อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ศาลปกครองกลางได้รับฟังคำชี้แจงของทั้ง 2 ฝ่ายแล้ว วันนี้ศาลปกครองการก็ยังไม่มีคำสั่งใดๆ จึงยังไม่ทราบว่าศาลจะรับพิจารณาคดีนี้ หรือไม่รับ คงต้องรอฟังคำสั่งของศาลต่อไป หากศาลรับฟ้องคดีนี้ ก็อาจจะนัดคู่ความมาไต่สวน ส่วนผลของคดีจะออกมาเป็นอย่างไร ไม่ทราบ แต่ผมขอต่อสู่คดีให้ถึงที่สุด เช่น ถ้าศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราว คปภ.ก็จะใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด และถ้าแพ้คดีในชั้นศาลปกครองกลาง ก็จะต่อสู้คดีในชั้นศาลปกครองสูงสุดต่อไป” ดร.สุทธิพล กล่าว

 

 

** ผู้เอาประกันภัยโควิด 10 ล้านกรมธรรม์ต้องจับตา

 

การยื่นฟ้องศาลปกครองโดยสองบริษัทประกันภัยในเครือไทยโฮลดิ้งส์ ถือเป็นประเด็นที่ผู้คนจำนวนมากให้ความสนใจ เพราะมีผลกับผู้ถือกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 ซึ่งปัจจุบันมีรวมกันเกือบ 10 ล้านกรมธรรม์ หากศาลตัดสินว่า คำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 ของ คปภ. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีโอกาสสูงที่ผู้ถือกรมธรรม์นับล้านอาจถูกลอยแพได้