หลังเที่ยงคืน 3 ม.ค. NARIT ชวนดู "ฝนดาวตกควอดรานติดส์" ตาเปล่าก็มองเห็น

03 ม.ค. 2565 | 10:33 น.

อย่าลืม! หลังเที่ยงคืนวันนี้ (3 ม.ค.) มีปรากฎการณ์ "ฝนดาวตกควอดรานติดส์ " ตกมากสุดเวลา 03.40 น. 120 ดวงต่อชั่วโมง NARIT เผย ดูได้ด้วยตาเปล่า บริเวณท้องฟ้ามืดสนิท

3 ม.ค.2565 - NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ระบุว่า หลังเที่ยงคืนวันนี้ จนถึงช่วง ตีสองเป็นต้นไป จะเกิดปรากฎการณ์ "ฝนดาวตกควอดรานติดส์" โดยคาดมีอัตราการตกสูงสุด 120 ดวงต่อชั่วโมง และมีอัตราการตกมากที่สุดเวลาประมาณ 03:40 ไร้แสงจันทร์รบกวน แนะนำเลือกสถานที่ท้องฟ้ามืดสนิทไม่มีแสงไฟรบกวน สามารถ ดูฝนดาวตก ได้ด้วยตาเปล่า ไม่จำเป็นต้องชมผ่านกล้องโทรทรรศน์

ฝนดาวตกควอดรานติดส์ 

มีศูนย์กลางการกระจายอยู่ระหว่างกลุ่มดาวเฮอร์คิวลีส (Hercules) กลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์ (Boötes) และกลุ่มดาวมังกร (Draco) เริ่มสังเกตได้ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ จากนั้นศูนย์กลางจะค่อย ๆ เคลื่อนมากลางฟ้า

หลังเที่ยงคืน 3 ม.ค. NARIT ชวนดู "ฝนดาวตกควอดรานติดส์" ตาเปล่าก็มองเห็น
 

ฝนดาวตกควอดรานติดส์ เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 28 ธันวาคม - 12 มกราคม ของทุกปี เกิดจากการที่โลกเคลื่อนที่ตัดเข้ากับสายธารเศษอนุภาคที่ดาวเคราะห์น้อย 2003 อีเอช1 (2003 EH1) เหลือทิ้งไว้ขณะเดินทางผ่านเข้ามาในระบบสุริยะชั้นในทุก ๆ 5.5 ปี เมื่อโลกโคจรผ่านเส้นทางดังกล่าว แรงดึงดูดของโลกจะดึงฝุ่นและหินเข้ามาเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศโลกเกิดเป็นลำแสงวาบ หรือในบางครั้งเกิดเป็นลูกไฟขนาดใหญ่เรียกว่า (Fireball)

 

ที่มา : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ