เปิดคดีไซเบอร์ 5 ประเภท ที่ต้องระวัง เจาะทุกแพลตฟอร์มออนไลน์

02 พ.ย. 2564 | 12:54 น.

พล.ต.อ. สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แถลงปราบคดีไซเบอร์ 5 ประเภท เจาะเข้าทุกแพลตฟอร์มออนไลน์ หลอกประชาชน

วันที่ 2 พ.ย.64 พล.ต.อ. สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และพล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ( รอง ผบ.ตร.) ในฐานะผู้อำนวยการ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ( ศปอส.) หรือ PCT เปิดแถลง ผลระดมกวาดล้างอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ในช่วง 20 - 31 ตุลาคม 2564  ในความผิด 5 ประเภท ประกอบด้วย

  1. คดีหลอกลวงทางการเงินและการลงทุน
  2. การหลอกลวงจำหน่ายสินค้า/ขายสินค้าออนไลน์ผิดกฎหมาย
  3. คดีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
  4. คดีเกี่ยวกับเพศ สื่อลามก
  5. การพนันออนไลน์

รวมจำนวน 3,964 ราย ผู้ต้องหา 3,804 คน

เปิดคดีไซเบอร์ 5 ประเภท ที่ต้องระวัง เจาะทุกแพลตฟอร์มออนไลน์

โดยประเภทที่ 1  “คดีเกี่ยวกับการหลอกลวงทางการเงินและการลงทุน” จำนวน 389 ราย ผู้ต้องหา 449 คน คดีที่สื่อและสังคมให้ความสนใจ เช่น คดีจับแก๊ง Call Center อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ หลอกผู้เสียหายว่ามีส่วนร่วมกับคดียาเสพติดและฟอกเงิน ถ้าไม่อยากถูกดำเนินคดีให้โอนเงินไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ

ทั้งนี้ คดีประเภทที่ 1 มีผู้เสียหายหลงเชื่อหลายราย มูลค่าความเสียหายกว่า 13 ล้านบาท อีกคดี เหตุเกิดที่ ภาค 3 พฤติการณ์เหมือนกัน คืออ้างตัวเป็นตำรวจหลอกผู้เสียหาย ขณะนี้ผู้เสียหายทยอยแจ้งความ ความเสียหาย 300,000 บาท รวม 2 คดี ผู้เสียหาย 20 ราย ผู้ต้องหา 14 ราย จับได้ 10 ราย เหลือ 4 ราย

อีกคดี เป็นคดี Hybrid Scam หลอกลวงผู้เสียหายผ่าน Application Tinder และ Line โดยคนร้ายจะใช้ Profile ชาวต่างชาติหน้าตาดี มีฐานะ พูดคุยจนผู้เสียหายหลงรัก และชวนให้ลงทุนซื้อขายทองคำ เพื่อเก็งกำไร ผ่าน Application MetaTrader5 อ้างว่าลงทุนต่ำ ผลตอบแทนสูง สูญเงินกว่า 25 ล้านบาท มีผู้เสียหาย 21 ราย 

เปิดคดีไซเบอร์ 5 ประเภท ที่ต้องระวัง เจาะทุกแพลตฟอร์มออนไลน์

ประเภทที่ 2  จับกุม “คดีหลอกลวงจำหน่ายสินค้า/ขายสินค้าออนไลน์ผิดกฎหมาย” จำนวน 502 ราย ผู้ต้องหา 416 คน เช่น คดีหลอกขายโทรศัพท์มือถือ และสินค้าอื่นๆ โดยการโพสต์รูปโทรศัพท์ ประกาศขายในราคาถูกตาม Social media แต่กลับไม่ส่งสินค้าให้กับลูกค้า มีผู้เสียหายทั่วประเทศ 50 ราย ความเสียหายกว่า 400,000 บาท และ จับกุม นายกัณปภัศ พร้อมพวก รวม 3 คน ขายอาวุธปืนผ่าน Face book โดยมีการนัดส่งมอบอาวุธปืนกันที่ร้านปืน ย่านบางกะปิ ยึดอาวุธปืนได้ 7 กระบอก กระสุนอีกหลายร้อยนัด

ประเภทที่ 3 จับกุมคดีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จำนวน 753 ราย ผู้ต้องหา 605 คน อาทิ สอท. จับกุมอดีตพนักงานโรงแรม แอบอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่โรงแรมและใช้ E-mail ของโรงแรมพูดคุยและส่ง E-mail ให้ลูกค้าโอนเงินค่าจองโรงแรมมาเข้าบัญชีตนเอง จากนั้นได้ส่งหลักฐานยืนยันการจองที่ปลอมขึ้นมาให้กับลูกค้า จนลูกค้าหลงเชื่อโอนเงินให้ผู้ต้องหาหลายครั้ง คดีนี้จับกุมผู้กระทำผิดได้ 2 คน 

ประเภทที่ 4 คดีความผิดเกี่ยวกับเพศ สื่อลามกทางออนไลน์ จำนวน 176 ราย ผู้ต้องหา 174 คน เช่น สอท.คดีจับกุม นายชาติพณ เจ้าของบัญชีชื่อ “เน้นจุก” ได้มีการนำภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวของหญิงผู้เสียหายกว่า 1,000 ราย ไปโพสต์ในแพลตฟอร์ม VK ตรวจสอบผู้ต้องหามีคลิปในครอบครองกว่า 50,000 ไฟล์ และมีการโพสต์ในลักษณะ โฆษณาชักชวนให้มีการเล่นการพนันออนไลน์ หารายได้จากการสมัครสมาชิกของผู้เข้าชมครั้งละ 100-300 บาท โดยมีผู้ติดตามมากกว่า 59,000 ราย ซึ่งมีรายได้จากการกระทำดังกล่าวประมาณ 60,000 บาท

นอกจากนี้ ยังได้มีรายได้จากการโฆษณาเว็บไซต์เกี่ยวกับพนันออนไลน์มากกว่า 10 เว็ปไซต์ มีรายได้จากการโฆษณา 3,000 - 3,500 บาทต่อเดือน ต่อเว็ปไซต์ รวมประมาณ 50,000 ต่อเดือน
ประเภทที่ 5 จับกุมคดีการพนันออนไลน์ 1,577 ราย ผู้ต้องหา 1,663 คน คดีที่สำคัญ เช่น คดีตำรวจ PCT จับกุมเครือข่ายไก่ชนใต้ .com, lucky168cockfight, luckybet ผู้ต้องหา 3 ราย มีกลุ่มผู้เล่นการพนันกว่า 1,000 ราย ยึดรถยนต์ 2 คัน โทรศัพท์มือถือ 3 เครื่อง คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค 3 เครื่อง เป็นของกลาง เงินหมุนเวียนกว่า 100 ล้านบาท

ผบ.ตร. กล่าวอีกว่า ขณะนี้ได้มีนโยบายการจัดทำ “ระบบบริการรับแจ้งความ Online อาชญากรรมทางเทคโนโลยี” เพื่อให้ประชาชนสามารถแจ้งความทาง Online ผ่านระบบเว็บไซต์ เพื่อความสะดวกแก่ประชาชน นำข้อมูลมาเชื่อมโยงแผนประทุษกรรม เพื่อจะได้พิจารณามอบหมายให้ผู้ที่เหมาะสมไปดำเนินการต่อ จะมีพนักงานสอบสวนติดต่อกลับไปพร้อมคำแนะนำว่าจะให้ผู้เสียหายไปแจ้งความร้องทุกข์ที่ใด รวมทั้งติดตามความคืบหน้าของคดีได้อีกด้วย ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพัฒนาระบบ คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ภายในเดือน พ.ย.64 นี้ และจะพร้อมให้บริการกับประชาชนได้