มธ.จับมือ รพ.เอกชน นำเข้า “ไฟเซอร์-โมเดอร์นา”

15 ต.ค. 2564 | 02:21 น.

รพ. ธรรมศาสตร์ฯ จับมือโรงพยาบาลเอกชนเจรจานำเข้าวัคซีน “ไฟเซอร์-โมเดอร์นา” 7 ล้านโดส พร้อมได้รับบริจาคจากยุโรปอีก 3 ล้าน คาดสรุปข้อตกลงได้ 31 ต.ค. นี้

ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ประธานคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า นับตั้งแต่วันที่ 26 ส.ค.2564 ที่มีการประกาศข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ว่าด้วยการจัดการบริการทางการแพทย์ในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19

 

มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการในเรื่องการจัดหายา วัคซีนและเวชภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการป้องกันหรือรักษาผู้ป่วยโควิดในนามของ มธ.สรุปดังต่อไปนี้

 

1. เมื่อต้นเดือน ก.ย. ได้ลงนามความร่วมมือกับสถานพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ในการจัดหาและนำเข้าวัคซีนโมเดอร์นาจำนวน 2 ล้านโดสในนาม มธ. โดยเอกชนรายนี้จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเพื่อนำวัคซีนมากระจายฉีดแก่ประชาชนโดยผ่านระบบโรงพยาบาลเอกชน

 

โดย มธ.จะขอรับบริจาคโมเดอร์นาใน 100,000 โดส มาเพื่อใช้ฉีดให้กับผู้ป่วยและบุคคลทั่วไปที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ โดยจะไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายใด ๆ จากการฉีดวัคซีนในส่วนของ มธ.นี้

วัคซีนไฟเซอร์

2. ปลายเดือน ก.ย. ได้ลงนามความร่วมมือกับสถานพยาบาลเอกชนอีกแห่งหนึ่ง ในการนำเข้าวัคซีน mRNA คือโมเดอร์นาและไฟเซอร์จำนวน 5 ล้านโดส เข้ามาในประเทศ โดยเอกชนรายนี้จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการนำเข้าวัคซีนทั้งหมดเพื่อกระจายฉีดให้แก่ประชาชนผ่านระบบโรงพยาบาลเอกชนต่างๆ

 

โดย รพ.ธรรมศาสตร์ก็ยังคงจะได้รับบริจาควัคซีนอีกหลายแสนโดสจากจำนวนนี้ เพื่อกระจายฉีดให้ประชาชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ หากสามารถนำวัคซีนเข้ามาได้สำเร็จ

 

3. ต้นเดือน ต.ค. ได้ติดต่อกับสถาบันวัคซีนของประเทศในยุโรปตะวันออกประเทศหนึ่ง โดยการประสานของภาคเอกชน ด้วยการช่วยอำนวยความสะดวกของสถานทูตไทย เพื่อจะขอรับวัคซีนโมเดอร์นาในลักษณะการบริจาคให้ มธ.จำนวน 3 ล้านโดส แต่ มธ.จะต้องรับผิดชอบการขนส่ง โลจิสติกส์ การดูแลควบคุมคุณภาพ และการตรวจสอบคุณภาพวัคซีนทั้งหมด ซึ่งคิดเป็นค่าใช้จ่ายหลาย 10 ล้านยูโร และขณะนี้อยู่ระหว่างการติดต่อประสานงานและเจรจาเรื่องค่าใช้จ่ายในการดำเนินการกับฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องอยู่

 

ศ.ดร.สุรพล กล่าวว่า ทั้ง 3 กรณีได้ตระหนักถึงความเร่งด่วนจำเป็นของการมีวัคซีนทางเลือกเข้ามาใช้ในประเทศไทย จึงได้กำหนดระยะเวลาการดำเนินการของความตกลงจัดหาวัคซีนทั้งหมดให้เสร็จสิ้นภายใน 31 ต.ค.2564 นี้ทั้งหมด

 

“แต่เราก็ไม่ได้คาดหวังว่า แม้มีความตกลงและมีผู้รับผิดชอบไปดำเนินการติดต่อประสานงานชัดเจนแล้ว เราจะได้รับวัคซีนเข้ามาตามนี้อย่างแน่นอน เพราะการจัดหาวัคซีนเข้ามาในสถานการณ์ปัจจุบัน เป็นเรื่องลำบากแสนเข็ญ ถ้าหากทำได้ง่ายๆจริง ประเทศของเราคงไม่ประสบกับภาวะการณ์ขาดแคลนวัคซีนอยู่เช่นนี้หรอก

วัคซีนโมเดอร์นา

แต่พวกเราเพียงหวังว่า ถ้าความพยายามนี้ของพวกเรา พอจะมีสัมฤทธิ์ผลได้บ้าง แม้เพียงบางส่วน เราก็จะสามารถช่วยแบ่งเบาภาระของประเทศและสามารถช่วยเหลือผู้คนร่วมสังคมได้บ้างตามกำลังของพวกเราเท่านั้น”

 

4. ตั้งแต่ปลายเดือน ส.ค. ได้ติดต่อเจรจากับตัวแทนของบริษัทผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ของยุโรปตะวันตก ซึ่งกำลังดำเนินการวิจัย ค้นคว้าทดลองและผลิตวัคซีน Protein base ชนิดใหม่ ที่ไม่ใช่โนวาแวกซ์ ซึ่งในขณะนี้อยู่ระหว่างการทดลองในเฟสที่ 3 และคาดว่า จะสามารถขึ้นทะเบียนกับองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ภายในเดือน ธ.ค.นี้

 

โดยมหาวิทยาลัยตกลงจะเข้าร่วมการวิจัยทดลองวัคซีนในเฟสที่ 3 นี้ด้วย และหากสามารถขึ้นทะเบียนวัคซีนชนิดนี้ได้สำเร็จ มธ.จะร่วมมือกับผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่ในประเทศไทยแห่งหนึ่ง ในการจะนำเข้าวัคซีน Protein base ชนิดนี้ เพื่อเข้ามาใช้ในประเทศไทยโดยเร็วที่สุดและอย่างกว้างขวางที่สุด ในฐานะที่เป็นวัคซีนทางเลือก เพื่อจะใช้เป็นวัคซีนกระตุ้นเข็มที่3 สำหรับผู้ที่ต้องการรับวัคซีนในต้นปีหน้า

 

5.รพ.ธรรมศาสตร์ได้ทำความตกลงร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตยา Generic name ของโมลนูพิลาเวียร์ (Molnupilavir) ในประเทศอินเดีย เพื่อร่วมการทดลองประเมินประสิทธิภาพของยาชนิดนี้กับผู้ป่วยโควิด ในระยะที่ 3 ตั้งแต่ปลายเดือน ส.ค. และจะทำการวิจัยทางคลินิก (Clinical Trial) เพื่อประเมินประสิทธิภาพของยาชนิดนี้ใน รพ.ธรรมศาสตร์

 

โดยมหาวิทยาลัยเป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในวิจัยทางคลินิกทั้งหมดที่เกิดขึ้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการขออนุมัติโครงการการวิจัยต่อคณะกรรมการจริยธรรมทางการวิจัย และกำลังรอรับการจัดส่งยาที่จะใช้ในโครงการนี้มายังประเทศไทย  โดยเราได้ทำความตกลงเบื้องต้นแล้วที่จะสั่งยาชนิดนี้อีกจำนวน 200,000 เม็ดเพื่อจะนำมาใช้กับผู้ป่วยของเราทันทีที่องค์การอาหารและยาของสหรัฐ (FDA)ให้การรับรองยาชนิดนี้เป็นที่เรียบร้อย และได้ผ่านการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)ของไทยเรียบร้อยแล้ว