กรมอุตุฯเปิดเส้นทางพายุดีเปรสชัน กระทบไทยหรือไม่ เช็คที่นี่
กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์เส้นทางพายุดีเปรสชัน บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง คาดขึ้นฝั่งเวียดนาม 10-11 ต.ค.นี้ ส่วนไทยมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ พร้อมตรวจสอบพยากรณ์ฝนรวมทุก 24 ชม. 10 วันล่วงหน้าได้ที่นี่
กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดการณ์เส้นทางพายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง โดยเผยไทม์ไลน์ดังนี้
- วันที่ 7 ตุลาคม 2564 เวลา 12.00 น. พายุเกือบไม่เคลื่อนที่ มีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้นในระยะต่อไป
- วันที่ 10 -11 ตุลาคม 2564 คาดว่าพายุจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนบน
สำหรับพายุดีเปรสชันลูกดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยดังนี้
- วันที่ 7- 11 ตุลาคม 2564 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย มีกำลังแรง ส่วนร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกและภาคใต้ตอนบน
- ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคกลาง กทม.ปริมณฑล ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกและภาคใต้ มีฝนตกหนักบางแห่ง และฝนตกหนักมาก บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันตก
ข้อควรระวัง
- เตือนประชาชนให้ระวังอันตรายจากฝนที่ตกสะสม ซึ่งจะส่งผลทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก
- ส่วนทะเลอันดามันคลื่นสูง 2-3 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้
- ส่วนอ่าวไทยคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้
กรมอุตุนิยมวิทยา ยังได้เผยแพร่การพยากรณ์ฝนรวมทุกๆ 24 ชม. 10 วันล่วงหน้า (7 - 16 ต.ค.64) (ระหว่างเวลา 07.00น. - 07.00 น.วันรุ่งขึ้น) จาก ECMWF 2021100612 : โดยวันนี้ร่องมรสุมวิเคราะห์ไม่ได้ มีเพียงมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงมีกำลังค่อนข้างแรง พัดปกคลุม ส่วนพายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง ยังไม่พัฒนาเป็นโซนร้อน จึงยังไม่มีชื่อ แต่ยังต้องติดตาม ระยะนี้ฝนที่เกิดขึ้น มาจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้เป็นส่วนใหญ่
ที่จะต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษคือภาคใต้ฝั่งอันดามันและภาคตะวันออกด้านรับมรสุม ระยะสัปดาห์นี้อากาศมีความแปรปวน โดยเฉพาะทิศทางลม ทางภาคเหนือ อีสานตอนบน มีลมเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ เริ่มพัดปกคลุม จากอิทธิพลของความกดอากาศสูงที่แผ่ซึมลงมาปกคลุม เป็นสัญญาณการเริ่มเปลี่ยนถ่ายฤดู (ข้อมูลนี้อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามข้อมูลที่นำเข้าใหม่ ใช้เป็นแนวทางเพื่อประกอบการตัดสินใจ)