ศบค.ชุดเล็กห่วงการติดเชื้อโควิด-19 ในจังหวัดชายแดนภาคใต้

01 ต.ค. 2564 | 06:50 น.

เลขาฯสมช.คนใหม่ ประชุมศบค.ชุดเล็กนัดแรก ห่วงการติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้ เน้นย้ำไปยังผู้ว่าฯและหน่วยงานในพื้นที่เข้มงวดมาตรการสาธารณสุข

1 ต.ค.64 เวลา 12.30 น. พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค.แถลงสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันช่วงหนึ่งว่า ในวันนี้ พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฎิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด(ศปก.ศบค.) ได้ทำหน้าที่ในการประชุมศบค.ชุดเล็กเป็นวันแรก

ทั้งนี้ ศบค.ชุดเล็กห่วงการติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่กลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีการรายงานผู้ติดเชื้อ 1,917 คน คิดเป็นสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 15 มาอยู่ที่ร้อยละ 17 ของผู้ป่วยทั้งประเทศ ขณะที่มีผู้ป่วยอาการหนักและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นด้วย

ศบค.ชุดเล็กห่วงการติดเชื้อโควิด-19 ในจังหวัดชายแดนภาคใต้

รายงานเสียชีวิตวันนี้สูงถึง 26 ราย  นอกจาก 4 จังหวัด ยะลา นราธิวาส ปัตตานี และสงขลาแล้ว ยังเห็นตัวเลขในหลายจังหวัดของภาคใต้เพิ่มขึ้นด้วย เช่น พัทลุง สตูล นครศรีธรรมราช ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี ก็มีรายงานติดเชื้อเพิ่มขึ้นด้วย  จึงต้องเน้นย้ำไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานในพื้นที่ ต้องช่วยกันและเข้มงวดมาตรการสาธารณสุข
         

พบผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มคลัสเตอร์ในหลายจังหวัด

นอกจากนี้ ยังพบผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มคลัสเตอร์ในหลายจังหวัด เช่น ที่ศูนย์ฝึกนักกีฬาฟุตบอลเยาวชน จังหวัดลพบุรี , แคมป์ก่อสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี  งานศพ ที่จังหวัดอุบลราชธานีและศรีษะเกษ , ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการ จังหวัดเชียงใหม่ ,โรงงาน จังหวัดตราด ตลาดล้งผลไม้ จังหวัดจันทบุรี  และแรงงานประมงจังหวัดระยอง

สำหรับทิศทางผู้ติดเชื้อในกรุงเทพฯและปริมณฑลมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีการรายงานจะมีการปิดศูนย์แรกรับผู้ติดเชื้อโควิด 19 อาคารนิมิบุตร สนามกีฬาแห่งชาติ และเตรียมเปิดโรงพยาบาลสนามเลิดลิน เพื่อเตรียมรองรับผู้ป่วยสีเหลือง สีแดง อีก 200 เตียง ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการปิดศูนย์โรงพยาบาลบุษราคัม เมืองทองธานีไปแล้ว

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า จากการผ่อนคลายมาตรการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้ อาจส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อมากขึ้น จึงขอความร่วมมือทุกภาคส่วน ทั้งผู้ประกอบการและประชาชนด้วย แต่หากทิศทางผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มลดลง คงมีการผ่อนคลายมาตรการมากยิ่งขึ้น

เปิดเป้าหมายฉีดวัคซีนโควิดเดือนต.ค.64

ผู้ช่วยโฆษกสบค.กล่าวถึงเป้าหมายการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของประเทศไทยในเดือน ต.ค.64 คือ ต้องฉีดครอบคลุมประชากรทั้งหมด(ไทยและต่างด้าว) อย่างน้อยร้อยละ 50 ทุกจังหวัด  อย่างน้อย 1 อำเภอ มีความครอบคลุมร้อยละ 70 มีต้นแบบ COVID free Area อย่างน้อย 1 พื้นที่ซึ่งมีความครอบคลุมร้อยละ 80 รวมถึงเพิ่มความครอบคลุมอย่างน้อยร้อยละ 80 ในกลุ่มสูงอายุ ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค และหญิงมีครรภ์ และ ความครอบคลุมของกลุ่มนักเรียน/นักศึกษาชั้นมัธยมหรือเทียบเท่า ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 อย่างน้อยร้อยละ 70

ศบค.ชุดเล็กห่วงการติดเชื้อโควิด-19 ในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของเข็มกระตุ้น มีประชาชนที่ได้รับการฉีดวัคซีน "ซิโนแวค" เข็ม 1 และเข็ม 2 ก่อนหน้านี้ จะมีการฉีด เข็มกระตุ้น เป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่ครบไปแล้ว และกลุ่มที่ 2 คือ ประชาชน ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม ตั้งแต่ มี.ค. เป็นต้นมา ซึ่งมีการระดมฉีดกันไปเมื่อ 24 ก.ย. 64 ซึ่งเป็นวันมหิดล จะเป็นช่วงนี้ที่จะรับเข็ม 3 เป็น  "วัคซีนเข็มกระตุ้น" 

สำหรับประชาชนที่ได้รับ"วัคซีนเชื้อตาย" ซิโนแวค 2 เข็ม ในช่วง 1-15 มิ.ย. 64 จะมีการเริ่มฉีดตั้งแต่ 10 ต.ค. 64 เป็นต้นไป โดยเน้นย้ำว่า หน่วยบริการฉีดวัคซีนที่เคยให้บริการฉีดวัคซีนซิโนแวค ให้กับประชาชนสองเข็ม ขอให้ตรวจสอบข้อมูล หลักฐานการฉีดวัคซีน เพื่อจัดสรรคิวตามที่ได้รับ เพื่อให้การบริการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น และขอให้ลงข้อมูลใน Moph IC เพื่อติดตามอาการไม่พึงประสงค์ 

ศบค.ชุดเล็กห่วงการติดเชื้อโควิด-19 ในจังหวัดชายแดนภาคใต้

"จะเห็นว่า นอกจากการฉีดวัคซีนเข็ม 1-2 ให้ได้ตามเป้าหมายแล้ว ต้องเป็นกระตุ้นเข็ม 3 รวมถึงการฉีดวัคซีนในนักเรียน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข เน้นย้ำว่า  ขอให้พื้นที่พยายามเร่งสำรวจความต้องการ เพราะสาธารณสุข จะดูนอกจากอัตราการติดเชื้อ เสียชีวิต จะดูอัตราการฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรในอำเภอ หรือแต่ละจังหวัด เพื่อพิจารณากำหนดมาตรการผ่อนคลาย รวมถึงการเปิดเมือง ขอเน้นย้ำให้พื้นที่ เร่งสำรวจความต้องการในพื้นที่ด้วย"