เช็คแผน กทม. รับมือสถานการณ์น้ำท่วมผลกระทบจากพายุโซนร้อน เตี้ยนหมู่

27 ก.ย. 2564 | 06:55 น.

สถานการณ์น้ำท่วม เช็คแผน กทม. รับมือผลกระทบจากพายุโซนร้อน เตี้ยนหมู่ กรณีมีเหตุฉุกเฉินพร้อมตั้งศูนย์บูรณาการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมผอ.เขต นั่งหัวโต๊ะบัญชาการ

สถานการณ์น้ำท่วมซึ่งได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อน "เตี้ยนหมู่" ทำให้ในหลายจังหวัดเกิดอุทกภัยในเวลานี้นั้น ในส่วนของกทม.พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ได้มีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและพื้นที่รอยต่อกรุงเทพฯ

พร้อมทั้งประสานงานปฏิบัติการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและการให้ความช่วยเหลือ ประกอบด้วย หน่วยงานกรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดนครปฐม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมชลประทาน และกองทัพภาคที่ 1 ซึ่งได้มีการฝึกซ้อมแผนปฏิบัติการป้องกันและการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล หรือแผนเผชิญเหตุ CPX ร่วมกัน

อีกทั้งได้มีการจัดประชุมเตรียมความพร้อมร่วมกับจังหวัดปริมณฑลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหารือและเตรียมการแก้ไขปัญหาที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบระบายน้ำ อาทิเช่น โครงการระบบระบายน้ำแนวถนนวิภาวดี และโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ โดยเฉพาะในแนวเส้นทางโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อระบบการระบายน้ำของ กทม.

รวมถึงมีหนังสือประสานแจ้งหน่วยงานสาธารณูปโภคและการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เตรียมการป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดจากพายุในช่วงฤดูฝน พร้อมทั้งเตรียมแผนระมัดระวังภัยจากน้ำท่วมฉับพลันหากมีปริมาณฝนตกอย่างต่อเนื่อง โดยการลอกท่อระบายน้ำและให้ตรวจสอบอุปกรณ์ให้มีความมั่นคงแข็งแรงจากลมกรรโชกแรงระหว่างก่อสร้าง

ทั้งนี้ มีรายงานว่า กรุงเทพมหานครได้จัดทำแผนเตรียมความพร้อมและรับมือสถานการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่ ประกอบด้วย

  1. ติดตามสถานการณ์สภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาและจากเรดาร์ตรวจฝนของกรุงเทพมหานครโดยศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม ปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง
  2. เตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ และติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ตามจุดที่เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาน้ำท่วมให้เพียงพอและพร้อมใช้งานได้ทันที
  3. ควบคุมและลดระดับน้ำในคลอง บ่อสูบน้ำและแก้มลิงให้อยู่ในระดับต่ำตามแผนฯ

4.เมื่อมีฝนตก ศูนย์ควบคุมระบป้องกันน้ำท่วม แจ้งเตือนสถานการณ์ฝนตกให้ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานภาคสนาม ผ่านระบบวิทยุสื่อสาร Trunked Radio แจ้งเตือนสำนักงานเขตผ่านวิทยุสื่อสารเครือข่าย “อัมรินทร์” แจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผ่านกลุ่ม Line “เตือนภัยน้ำท่วม กทม.” (ปภ. ทหาร ตำรวจ สื่อมวลชน)

5.ส่งหน่วยปฏิบัติการเร่งด่วน (BEST) ประจำจุดเสี่ยงน้ำท่วมและจุดสำคัญเมื่อคาดว่าจะมีฝนตกหนัก เพื่อเร่งระบายน้ำ และแก้ไขปัญหาเรื่องขยะอุดตันตะแกรงช่องรับน้ำพร้อมการช่วยเหลือแก้ปัญหาด้านการการจราจร

6.หน่วยงานภาคสนามลงพื้นที่ตามจุดต่างๆ และรายงานจุดที่มีน้ำท่วมให้ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วมรับทราบสถานการณ์จนกว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ

7.ประสานงานขอการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ตำรวจเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกการจราจร การปิดเส้นทางน้ำท่วม / ทหาร ช่วยเหลือลำเลียงประชาชนออกจากพื้นที่ หากมีระดับน้ำท่วมสูงรถเล็กไม่สามารถใช้เส้นทางผ่านได้

8.เร่งแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในจุดที่วิกฤติ โดยการติดตั้งเครื่องสูบน้ำชนิดเคลื่อนที่ เพิ่มเติมจากที่มีอยู่เดิม

9.ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม รายงานสภาพฝน ปริมาณฝน พื้นที่น้ำท่วมขังเป็นระยะๆ และสรุปสถานการณ์เพื่อแจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ผ่านหน่วยงานต่างๆ รวมถึงช่องทางโซเชียลมีเดีย

ทั้งนี้ เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน กรุงเทพมหานครจัดตั้งศูนย์บูรณาการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมโดยมีผู้อำนวยการเขตเป็นผู้บัญชาเหตุการณ์

ประชาชนสามารถติดตามการแจ้งเตือนสถานการณ์ฝนและรับแจ้งเหตุน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ รวมทั้งการเตรียมความพร้อมหน่วยเคลื่อนที่เร็ว (หน่วยเบสท์) เพื่อเข้าช่วยเหลือประชาชนและเร่งระบายน้ำในจุดที่ประสบปัญหาน้ำท่วมขังได้ที่ http://dds.bangkok.go.th/, http://weather.bangkok.go.th/radar/, Facebook : @BKK_BEST, Twitter : @BKK_BEST และ กทม. Connect หรือแจ้งปัญหาความเดือดร้อนได้ที่ โทร. 1555 และศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม โทร. 0 2248 5115 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง