ปภ.รายงานน้ำท่วม 17 จังหวัด ได้รับผลกระทบ 1.6 หมื่นครัวเรือน

22 ก.ย. 2564 | 05:15 น.

ปภ.รายงานเกิดอุทกภัย 17 จังหวัด ได้รับผลกระทบ 16,283 ครัวเรือน สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 12 จังหวัด เหลือ 5 จังหวัดยังมีสถานการณ์น้ำท่วม เผยพื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก

วันที่ 22 ก.ย.64 เวลา 10.00 น.กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานจากอิทธิพลร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. 64 - ปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่ 17 จังหวัด ได้แก่

ปภ.รายงานน้ำท่วม 17 จังหวัด ได้รับผลกระทบ 1.6 หมื่นครัวเรือน

เชียงใหม่ ลำปาง ตาก สุโขทัย เพชรบูรณ์ พิจิตร กำแพงเพชร ชัยภูมิ เลย นครราชสีมา ศรีสะเกษ ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี พระนครศรีอยุธยา ราชบุรี และนครศรีธรรมราช รวม 53 อำเภอ 138 ตำบล 597 หมู่บ้าน 5 เขตเทศบาล ประชาชนได้รับผลกระทบ 16,283 ครัวเรือน ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 12 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ 5 จังหวัด ดังนี้

พิจิตร ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองพิจิตร อำเภอสากเหล็ก อำเภอบึงนาราง อำเภอโพธิ์ประทับช้าง อำเภอวชิรบารมี อำเภอโพทะเล และอำเภอสามง่าม ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำการเกษตร อยู่ระหว่างการเร่งระบายน้ำ

ชัยภูมิ เกิดฝนตกหนักและลำน้ำชีเอ่อเข้าท่วมในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอหนองบัวระเหว อำเภอจัตุรัส อำเภอเมืองชัยภูมิ อำเนินสง่า และอำเภอบ้านเขว้า ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ อยู่ระหว่างการเร่งระบายน้ำ

นครราชสีมา เกิดฝนตกหนักน้ำล้นอ่างเก็บน้ำเข้าท่วมในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอด่านขุนทด อำเภอสูงเนิน อำเภอโนนสูง อำเภอโชคชัย และอำเภอเมืองนครราชสีมา ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอด่านขุนทด อำเภอสูงเนิน อำเภอโนนสูง และอำเภอเมืองนครราชสีมา ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเร่งระบายน้ำที่ไหลมาจากอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร

สระแก้ว เกิดฝนตกหนักน้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอตาพระยา อำเภออรัญประเทศ และอำเภอเมืองสระแก้ว ปัจจุบันยังคงมีท่วมขังในพื้นที่อำเภอเมืองสระแก้ว สาเหตุจากคลองพระสทึงล้นตลิ่ง

พระนครศรีอยุธยา เกิดน้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอได้แก่ อำเภอผักไห่ อำเภอเสนา และอำเภอบางบาล ปัจจุบันมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย และคลองโผงเผงซึ่งอยู่นอกคันกั้นน้ำ

ปภ.รายงานสถานการณ์ ข้อมูลคาดการณ์และแจ้งเตือนภัย ประจำวันที่ 22 กันยายน 2564

พื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก

ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ (อ.ฝาง) พิจิตร (อ.ดงเจริญ โพทะเล บางมูลนาก) ตาก (อ.สามเงา เมืองฯ) กำแพงเพชร (อ.ปางศิลาทอง ไทรงาม ขาณุวรลักษบุรี) เพชรบูรณ์ (อ.ชนแดน) นครสวรรค์ (อ. ตาคลี ตากฟ้า ท่าตะโก) และอุทัยธานี (อ.บ้านไร่ ลานสัก)

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ชัยภูมิ (อ.เมืองฯ) ขอนแก่น (อ.แวงน้อย) ร้อยเอ็ด (อ.เกษตรวิสัย) อำนาจเจริญ (อ.เมืองฯ ปทุมราชวงศา) และอุบลราชธานี (อ.ศรีเมืองใหม่ โพธิ์ไทร)

ภาคกลาง จ.สุพรรณบุรี (อ.ด่านช้าง) กาญจนบุรี (อ.สังขละบุรี ทองผาภูมิ ศรีสวัสดิ์) นครนายก (อ.บ้านนา เมืองฯ) สระแก้ว (อ.อรัญประเทศ โคกสูง) ชลบุรี (อ.สัตหีบ บางละมุง) ระยอง (อ.บ้านฉาง) และตราด (อ.บ่อไร่)

ภาคใต้ จ.สุราษฎร์ธานี (อ.บ้านตาขุน เกาะสมุย พนม) ระนอง (อ.เมืองฯ กะเปอร์ สุขสำราญ ละอุ่น) พังงา (อ.คุระบุรี ตะกั่วป่า กะปง ท้ายเหมือง เมืองฯ) ภูเก็ต (อ.ถลาง เมืองฯ) และสตูล (อ.เมืองฯ)

พื้นที่เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมขัง

ภาคเหนือ จ.เพชรบูรณ์ (อ.หล่มสัก)

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.นครราชสีมา (อ.โชคชัย ด่านขุนทด สูงเนิน โนนสูง) และชัยภูมิ (อ.เมืองฯ จัตุรัส เนินสง่า หนองบัวระเหว บ้านเขว้า)

ภาคกลาง จ.พระนครศรีอยุธยา (อ.เสนา ผักไห่ บางบาล) กาญจนบุรี (อ.ไทรโยค) และสระแก้ว (อ.เมืองฯ)

ขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลสภาวะอากาศและข่าวสารจากทางราชการ พื้นที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ฝนตกหนัก ปริมาณฝนสะสม โดยเฉพาะพื้นที่ชุมชนเมือง อาจได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขังระยะสั้นๆ พื้นที่ลุ่มต่ำ พื้นที่ลาดเชิงเขา อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก พื้นที่ริมลำน้ำ อาจได้รับผลกระทบจากน้ำล้นตลิ่งและน้ำท่วมในระดับสูง ระวังอันตรายจากสัตว์และแมลงมีพิษ อันตรายจากกระแสไฟฟ้า รวมทั้งการขับขี่พาหนะบริเวณน้ำไหลผ่านเส้นทาง

ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อปพร. จิตอาสา เครือข่ายอาสาสมัคร องค์กรสาธารณกุศลได้เตรียมความพร้อมตามแผนเผชิญเหตุ เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ พร้อมประชาสัมพันธ์ และสร้างการรับรู้ให้กับชุมชน/หมู่บ้านในทุกช่องทาง ทั้งในรูปแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ เช่น สื่อสังคมออนไลน์ วิทยุชุมชน

ที่มา : กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย DDPM