เช็คพื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน-น้ำล้นตลิ่ง 13 ก.ย.64

13 ก.ย. 2564 | 02:20 น.

ปภ.รายงานสถานการณ์ ข้อมูลคาดการณ์และแจ้งเตือนภัย พื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก พื้นที่เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมขัง วันที่ 13 ก.ย.64

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) กระทรวงมหาดไทย  รายงานสถานการณ์ ข้อมูลคาดการณ์และแจ้งเตือนภัย ประจำวันที่ 13 กันยายน 2564 ระบุว่า 

  • พื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก

ภาคเหนือ จ.พิจิตร (อ.เมืองฯ) และเพชรบูรณ์ (อ.วิเชียรบุรี)

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.มุกดาหาร (อ.เมืองฯ นิคมคำสร้อย ดอนตาล หนองสูง คำชะอี) ยโสธร (อ.เมืองฯ เลิงนกทา กุดชุม ทรายมูล ป่าติ้ว คำเขื่อนแก้ว) อำนาจเจริญ (อ.เมืองฯ เสนางนิคม ปทุมราชวงศา หัวตะพาน) บุรีรัมย์ (อ.สตึก นางรอง ลำปลายมาศ) สุรินทร์ (อ.จอมพระ เขวาสินรินทร์ ศีขรภูมิ) ศรีสะเกษ (อ.เมืองฯ โนนคูณ กันทรลักษ์ ราษีไศล) และอุบลราชธานี (อ.โขงเจียม ศรีเมืองใหม่ พิบูลมังสาหาร สิรินธร บุณฑริก)

  • พื้นที่เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมขัง

ภาคเหนือ จ.เพชรบูรณ์ (อ.หล่มสัก) พิษณุโลก (อ.พรหมพิราม ชาติตระการ เนินมะปราง) พิจิตร (อ.ตะพานหิน ดงเจริญ) และกำแพงเพชร (อ.พรานกระต่าย ลานกระบือ)

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ชัยภูมิ (อ.หนองบัวระเหว คอนสาร ซับใหญ่) นครราชสีมา (อ.โชคชัย) และอุบลราชธานี (อ.สิรินธร ตระการพืชผล)

ภาคกลาง จ.พระนครศรีอยุธยา (อ.เสนา บางบาล ผักไห่) ปราจีนบุรี (อ.กบินทร์บุรี ประจันตคาม ศรีมหาโพธิ) นครนายก (อ.บ้านนา) และสมุทรปราการ (อ.บางบ่อ บางพลี และบางเสาธง)

  • พื้นที่เฝ้าระวังคลื่นลมแรง

ภาคใต้ จ.ระนอง พังงา และภูเก็ต

  • พื้นที่ที่มีฝนฟ้าคะนอง

ภาคเหนือ จ.เชียงราย น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก นครสวรรค์ และอุทัยธานี

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร นครพนม ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และนครราชสีมา

ภาคกลาง จ.ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี ราชบุรี จันทบุรี ตราด กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ภาคใต้ จ.ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส กระบี่ ตรัง และสตูล

ขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลสภาวะอากาศและข่าวสารจากทางราชการ พื้นที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ฝนตกหนัก ปริมาณฝนสะสม โดยเฉพาะพื้นที่ชุมชนเมือง อาจได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขังระยะสั้นๆ พื้นที่ลุ่มต่ำ พื้นที่ลาดเชิงเขา อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก พื้นที่ริมลำน้ำ อาจได้รับผลกระทบจากน้ำล้นตลิ่งและน้ำท่วมในระดับสูง ระวังอันตรายจากสัตว์และแมลงมีพิษ อันตรายจากกระแสไฟฟ้า

รวมทั้งการขับขี่พาหนะบริเวณน้ำไหลผ่านเส้นทาง สำหรับประชาชนบริเวณชายฝั่งทะเล ให้ระวังอันตรายจากคลื่นลมแรง ชาวเรือ ผู้บังคับเรือ ผู้ประกอบการเดินเรือโดยสาร ให้ตรวจสอบอุปกรณ์ความปลอดภัยให้มีความพร้อมก่อนออกเดินเรือ และควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง เรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง

ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อปพร. จิตอาสา เครือข่ายอาสาสมัคร องค์กรสาธารณกุศลได้เตรียมความพร้อมตามแผนเผชิญเหตุ เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ พร้อมประชาสัมพันธ์ และสร้างการรับรู้ให้กับชุมชน/หมู่บ้านในทุกช่องทาง

ทั้งในรูปแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ เช่น สื่อสังคมออนไลน์ วิทยุชุมชน หอกระจายข่าวหรือเสียงตามสายประจำหมู่บ้าน เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบถึงแนวทางการปฏิบัติตนอย่างปลอดภัย

เช็คพื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน-น้ำล้นตลิ่ง 13 ก.ย.64

กรมชลประทานชี้ระดับน้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ฝนที่ตกหนักในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน และภาคกลาง ส่งผลให้มีน้ำท่าไหลหลากลงสู่แม่น้ำสายหลักต่างๆ ก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำ C.2 จังหวัดนครสวรรค์ เพิ่มขึ้นในเกณฑ์ประมาณ 1,300 – 1,400 ลบ.ม./วิ มีการตัดยอดน้ำเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งรวม 400 ลบ.ม./วิ และควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในเกณฑ์ 800 – 1,200 ลบ.ม./วิ

จะส่งผลให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา โดยเฉพาะพื้นที่ตลิ่งต่ำบริเวณริมแม่น้ำน้อย ตั้งแต่บริเวณตำบลบ้านกระทุ่ม ตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา และตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 1.50 เมตร ในช่วงวันที่ 13 - 16 กันยายน 2564

กรมชลประทานจะควบคุมการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ดังกล่าว พร้อมกับบริหารจัดการน้ำเต็มศักยภาพของพื้นที่ โดยมิให้มีผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตร หากมีปริมาณน้ำหลากเพิ่มขึ้นที่จะส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยามากกว่า 1,200 ลบ.ม./วิ จะแจ้งให้ทราบต่อไป

ทั้งนี้ ได้สั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ประสานแจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนให้ทราบถึงสถานการณ์น้ำแล้ว จึงขอให้ประชาชนติดตามสถานกาณ์น้ำในระยะนี้อย่างใกล้ชิด หากต้องการความช่วยเหลือติดต่อได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้านหรือโทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา

ที่มา : กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย DDPM

ที่มาและภาพจาก : กรมชลประทาน