แนะใช้ยาฆ่าพยาธิ "ivermectin" รักษาโควิด หมอธีระวัฒน์ชี้ดูตัวอย่าง อินเดีย

06 ก.ย. 2564 | 01:08 น.

หมอธีระวัฒน์แนะใช้ยาฆ่าพยาธิ ivermectin รักษาโควิด-19 ชี้ดูตัวอย่างประเทศอินเดียที่การติดเชื้อและการเสียชีวิตลดลงจำนวนมาก ระบุถึงเวลาที่ผู้ออกกฎในประเทศไทยต้องดูรอบด้านและสำนึกในความยากจนของประเทศ

รายงานข่าวระบุว่า ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา (หมอธีระวัฒน์) ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha)โดยมีข้อความว่า
ยาฆ่าพยาธิที่อินเดีย
หมอธีระวัฒน์ ระบุว่า ถึงเวลาแล้วหรือไม่ ที่ผู้ออกกฎในประเทศไทยจะต้องดูรอบด้านและสำนึกในความยากจนของประเทศ โดยดูตัวอย่างจากประเทศอินเดีย ในเรื่อง ยาฆ่าพยาธิ
อินเดียท่ามกลางกระแสโจมตีจากนักวิชาการ องค์กรตะวันตกและคนที่ชื่นชอบปฏิบัติตามฝรั่ง และคำห้ามปรามขององค์การอนามัยโลกห้ามใช้ยาฆ่าพยาธิไอเวอร์เมคติน (ivermectin)
ประเทศอินเดียประสบเคราะห์กรรม ติดเชื้อมหาศาลเสียชีวิตมโหฬาร แต่เมื่อเริ่มมีการใช้ยาฆ่าพยาธิไอเวอร์เมคติน (ivermectin) เต็มรูปแบบตั้งแต่มีการสัมผัสผู้ติดเชื้อและให้ทั้งบ้านแม้มีผู้ติดเชื้อเพียงคนเดียว
รวมทั้งให้เป็นการรักษาเมื่อมีการติดเชื้อตั้งแต่เริ่มต้นแม้ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยนิด
ปรากฏว่าอัตราการติดเชื้อและเสียชีวิตลดลงอย่างถล่มทลายตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2564 จนกระทั่งถึงเดือนสิงหาคมและต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน

ทั้งนี้รัฐ Kerala และทามิล นาดู ที่ปฏิเสธการใช้ยาฆ่าพยาธินี้โดยไม่เชื่อตามคำแนะนำของสถาบันทางการแพทย์และการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของอินเดีย โดยที่ยึดถือวัคซีนเป็นหลักและมีการฉีดวัคซีนอย่างน้อยหนึ่งเข็มใน56% และอายุมากกว่า 40 ปีได้ถึง 70% รวมทั้งใช้ยาเรมเดซิเวีนร์ฉีดในการรักษา ตามฝรั่ง กลับมีอัตราผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตสูงสุด ทั้งๆ ที่มีประชากรน้อยกว่ามากมายเมื่อเทียบกับรัฐอื่นๆที่มีประชากรมากกว่าและ ฉีดวัคซีนเพียงห้า%กลับติดและเสียชีวิตน้อยมาก

ใช้ยาฆ่าพยาธิรักษาโควิด
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ "หมอธีระวัฒน์" ได้ออกมาแสดงความเห็นเรื่องการใช้ยาฆ่าพยาธิ ivermectin  ตั้งแต่เริ่มต้นรวมกระทั่งเมื่อติดเชื้อและมีอาการไปแล้ว โดยประการสำคัญก็คือโควิดมีการกลายพันธุ์ไปเรื่อยๆ และจะเห็นได้ว่ายามาตรฐานที่ใช้รักษา ฟาวิพิราเวียร์เริ่มเห็นว่าได้ผลช้าลงหรือไม่ทันการณ์

หมอธีระวัฒน์ ระบุว่า ยาฆ่าพยาธิตั้งกล่าวมีประวัติการใช้งานมานานมากทำให้ทราบกระบวนการใช้และความปลอดภัยและมีการพิสูจน์ในเรื่องของโควิดมีอยู่แล้วในระดับต่างๆ ซึ่งเป็นกลไกที่เกี่ยวข้องกับการขัดขวางตัวไวรัสโดยตรง

สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทย วันที่ 6 กันยายน 64 นั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามรายงานจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. พบว่า มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นรวม 13,988 ราย มาจาก ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 13,544 ราย ติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 444 ราย  ผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 1,265,659 ราย  เสียชีวิตเพิ่ม 187 ราย หายป่วย 17,284 ราย กำลังรักษา 148,622 ราย หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 1,105,432 ราย