ฉีดวัคซีน mRNA พบกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ-เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ มากน้อยแค่ไหน

03 ก.ย. 2564 | 20:00 น.

กองระบาดวิทยา ชี้ว่าฉีดวัคซีนโควิด 19 ชนิด mRNA จะมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นได้ แต่เป็นสัดส่วนที่น้อยมาก และผลข้างเคียงทางหัวใจเกือบทั้งหมดหายเป็นปกติได้

กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรครายงานว่า ภายหลังจากมีการใช้วัคซีนโควิดชนิด mRNA พบว่ามีการรายงานภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบสูงกว่าปกติในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา อิสราเอล และยุโรป โดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐฯ (US.CDC) รายงานอุบัติการณ์การเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังจากเข็มที่ 2 ประมาณ 16 รายใน 1 ล้านโดสของการฉีด โดยเกิดหลังการได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 มากกว่าเข็มที่ 1

อาการมักเกิดขึ้นตั้งแต่วันแรกจนถึง 5 วันหลังจากได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 สอดคล้องกับการเกิดปฏิกิริยาที่มักพบสูงทันทีหลังการฉีดเข็มที่ 2 อีกทั้งไขมันอนุภาคนาโน (Lipid nanoparticle) ที่เป็นตัวช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน อาจเป็นปัจจัยส่งเสริมที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาข้ามภูมิคุ้มกัน

อาการแสดงที่พบได้บ่อยที่สุด คือ แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก รู้สึกเหนื่อย ใจสั่น เกิดขึ้นภายใน 7 วันหลังได้รับวัคซีน ควรรีบพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ เบื้องต้นผู้ป่วยควรได้รับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เอกซเรย์ปอด และตรวจเลือดดูเอนไซม์ของกล้ามเนื้อหัวใจ เพื่อประเมินการทำงานของหัวใจ

ข้อมูลการรักษาในสหรัฐอเมริกา ผู้ป่วยเกือบทั้งหมดมีอาการไม่รุนแรง และหลังได้รับการรักษาแบบประคับประคองด้วยการใช้ยา เช่น ยาต้านการอักเสบ (NSAIDs) ยาสเตียรอยด์ (Prednisolone) รวมถึงยา Colchicine ผู้ป่วยหายเป็นปกติได้เกือบทั้งหมด ไม่มีรายงานการเสียชีวิต เมื่อรักษาหายแล้วเบื้องต้นผู้ป่วยจะได้รับการตรวจติดตามการทำงานของหัวใจต่อไป ส่วนข้อมูลการติดตามระยะยาวยังคงมีจำกัด

อย่างไรก็ตามการฉีดวัคซีนโควิด 19 ชนิด mRNA จะมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นได้ แต่เป็นสัดส่วนที่น้อยมาก และผลข้างเคียงทางหัวใจเกือบทั้งหมดหายเป็นปกติได้ วัคซีนชนิด mRNA เป็นวัคซีนชนิดเดียวที่มีการรับรองให้ใช้ในเด็กวัยรุ่นอายุ 12-18 ปีได้ ผู้เชี่ยวชาญในประเทศไทยแนะนำว่า ในกรณีที่เป็นผู้ป่วยที่มีประวัติการเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือเคยมีภาวะหัวใจล้มเหลวมาก่อน ควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาเพื่อประเมินภาวะของโรคก่อนฉีดวัคซีนโควิด 19 ชนิด mRNA

ที่มา : กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค