โควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ "มิว" ถูกจัดเป็นกลุ่มไวรัสที่ต้องจับตาลำดับที่ห้า

02 ก.ย. 2564 | 01:50 น.

หมอเฉลิมชัยเผยโควิดสายพันธุ์ใหม่ มิว องค์การอนามัยโลกถูกจัดชั้นเป็นกลุ่มไวรัสที่ต้องจับตาลำดับที่ห้า ชี้มีแนวโน้มจะดื้อต่อวัคซีนหลากหลายชนิด

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า  
ด่วน องค์การอนามัยโลกประกาศว่า ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ชื่อ “มิว” มีแนวโน้มจะดื้อต่อวัคซีนหลากหลายชนิด จัดเป็นไวรัสที่ต้องจับตามอง (VOI)
องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกรายงานประจำสัปดาห์ แจ้งให้ทั่วโลกทราบว่า ได้เพิ่มเติมไวรัสสายพันธุ์ใหม่ชื่อมิว( Mu) ให้อยู่ในกลุ่มไวรัสที่ต้องจับตามอง (VOI : Variant of Interest ) ซึ่งมีอยู่แล้ว 4 ชนิด มิวจึงจัดเป็นลำดับที่ห้า
เหตุผลที่ต้องจัดให้ไวรัสมิวอยู่ในกลุ่มที่ต้องจับตามอง เพราะจากการศึกษาตำแหน่งที่มีการกลายพันธุ์ของไวรัสชนิดนี้ ข้อมูลเบื้องต้นพบว่า ไวรัสจะดื้อต่อภูมิคุ้มกัน และสามารถเจาะระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ได้ อันจะทำให้ประสิทธิผลของวัคซีนลดลง หรือดื้อต่อวัคซีนนั่นเอง
ไวรัสชนิดนี้ พบเป็นครั้งแรกที่ประเทศโคลัมเบีย ในเดือนมกราคม 2564 ขณะนี้แพร่ระบาดคิดเป็น 39% ของประเทศโคลัมเบีย และระบาดในประเทศเอกวาดอร์ 13%
แต่ยังไปไม่มากนักในระดับโลก พบเพียง 0.1% แต่เคยระบาดเป็นกลุ่มก้อนในยุโรป สหรัฐอเมริกา และอเมริกาใต้มาแล้ว
ไวรัสมิว นี้มีรหัสเรียกว่า B.1.621
องค์การอนามัยโลกแจ้งว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องเฝ้าระวังใกล้ชิด และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ชัดเจนของไวรัสชนิดนี้ว่า จะมีความรุนแรงมากน้อยเพียงใด

การจัดกลุ่มของไวรัสก่อโรคโควิดแยกเป็นสองระดับได้แก่
กลุ่มที่น่าเป็นกังวล ( VOC : Variant of Concern ) มีสี่สายพันธุ์ ประกอบด้วย
อัลฟา พบกันยายน 2563 
เบต้า พบพฤษภาคม 2563 
แกมมา พบพฤศจิกายน 2563 
เดลตา พบตุลาคม 2563

โควิดสายพันธุ์ใหม่ มิว (MU)
ในขณะที่ไวรัสกลุ่มรองลงมาคือกลุ่มที่ต้องจับตามอง (VOI) ประกอบด้วย
1. อีต้า-Eta พบธันวาคม 2563 
2.ไอโอต้า-Iota พบพฤศจิกายน 2563 
3. แคปป้า-Kappa พบตุลาคม 2563 
4. แลมป์ด้า-Lambda พบธันวาคม 2563

และลำดับที่ห้า สายพันธุ์ใหม่ล่าสุดมิว พบเมื่อมกราคม 2564
ไวรัสโคโรนาที่ก่อโรคโควิด-19 เป็นไวรัสที่สร้างปัญหาให้ชาวโลกต้องปวดเศียรเวียนเกล้าเป็นอย่างมาก
เพราะตลอดระยะเวลา ตั้งแต่ธันวาคม 2562 เป็นต้นมา มีการกลายพันธุ์ไปแล้วอย่างน้อย 39 สายพันธุ์หลัก และอีกหลายสิบสายพันธุ์ย่อย
แต่ละสายพันธุ์ ก็มีลักษณะที่แตกต่างกันไป และมีโอกาสเป็นไปได้ ที่จะมีบางสายพันธุ์ ทั้งแพร่เร็ว ดุร้ายก่อให้เกิดอาการหนัก และดื้อต่อวัคซีน
ถ้าเราเจอไวรัสที่กลายพันธุ์ ในลักษณะอย่างนั้น โลกคงจะอยู่ในสถานการณ์วิกฤติของโรคระบาดครั้งใหญ่ทีเดียว
การลดความเสี่ยง ไม่ให้ไวรัสกลายพันธุ์ง่ายคือ การเร่งฉีดวัคซีนให้ไวรัส หยุดระบาดหรือกลายเป็นโรคประจำถิ่นธรรมดา และมีวินัยในการป้องกันตนเอง เพื่อไม่ให้เกิดการระบาดขนาดใหญ่ เพราะไวรัสจะกลายพันธุ์ได้มาก ถ้ามีการระบาดติดเชื้อกว้างขวามาก
สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทย วันที่ 2 กันยายน 2564 นั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลการรายงานจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. พบว่า มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นรวม 14,956 ราย มาจาก ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 14,600 ราย ติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 356 ราย  ผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 1,205,624 ราย  เสียชีวิตเพิ่ม 262 ราย หายป่วย 17,936 ราย กำลังรักษา 163,680 ราย หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 1,031,278 ราย