หมอนิธิพัฒน์ชี้สูบบุหรี่เสี่ยงติดเชื้อโควิด-เพิ่มภาวะปอดอักเสบรุนแรง

29 ส.ค. 2564 | 02:07 น.

หมอนิธิพัฒน์เผยข้อมูลการสูบบุหรี่กับเชื้อโควิด-19 ชี้สูบบุหรี่เพิ่มช่องทางไวรัสเข้าสู่ร่างกายเสี่ยงปอดอักเสบรุนแรง

รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (นิธิพัฒน์ เจียรกุล) โดยมีข้อความระบุว่า 
ในยามที่สถานการณ์ยังมัวซัวไม่รู้จะไปทางไหนกันต่อ ขณะที่บุคลากรด่านหน้าเหนื่อยล้ากันเต็มทน แถมยังมีปัญหาผู้ป่วยโควิดเล็ดรอดการตรวจจับโผล่ไปปะปนกับผู้ป่วยอื่นในโรงพยาบาล ทำให้บุคลากรต้องถูกกักตัวและการบริการผู้ป่วยที่ไม่ใช่โควิดต้องถูกจำกัดลง ไปแก้เซ็งด้วยการหาเรื่องมาประเทืองปัญญากันดีกว่า ว่าเจ้าบุหรี่กับเจ้าโควิด สองวายร้ายจะสนิทกันเหมือนปาท่องโก๋กับนมข้นหวานหรือไม่
เป็นที่ทราบกันดีว่าการสูบบุหรี่ ทั้งบุหรี่มวนและบุหรี่ไฟฟ้า นำมาซึ่งโรคไม่ติดต่อร้ายแรงหลายชนิด โดยเฉพาะโรคระบบการหายใจ ไม่ว่าจะเป็นโรคถุงลมโป่งพอง มะเร็งปอด วัณโรคปอด ปอดเป็นพังผืดไม่ทราบสาเหตุ และโรคปอดอื่นๆ อีกมากมาย นับแต่มีการระบาดของโรคโควิด-19 มาเกือบครบสองปี มีเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับสหายตัวร้ายทั้งสองนี้มาเล่าสู่กันฟัง ใครสนใจหาอ่านได้จากต้นฉบับ (Frontier in Physiology 2021 Mar 18;12:603850. doi: 10.3389/fphys.2021.603850)
ในองค์ความรู้เกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่ที่มีมาแต่ครั้งดั้งเดิม คาดกันว่าการสูบบุหรี่น่าจะเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคโควิด-19 แต่การณ์หาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะข้อมูลในแต่ละช่วงของการระบาด และข้อมูลในแต่ละภูมิภาคของโลก มีทั้งสนับสนุนและคัดค้านความสัมพันธ์ที่คาดกันไว้ เนื่องจากการรวบรวมข้อมูลประวัติการสูบบุหรี่ในผู้ป่วยโควิดมักจะทำได้ไม่สมบูรณ์ ทั้งตัวผู้ป่วยเองอาจให้ข้อมูลที่ต่ำกว่าความเป็นจริง ส่วนตัวบุคลากรที่บันทึกข้อมูลก็อาจไม่ได้ใส่ใจเรื่องการสูบบุหรี่มากนัก เนื่องจากใส่ใจกับปัญหาการเจ็บป่วยที่มีความเร่งด่วนกว่า 

ประเด็นต่อมาคือคนที่สูบบุหรี่ถ้าเป็นโควิด โรคจะลุกลามได้ง่ายและเกิดการสูญเสียมากกว่าคนที่ไม่สูบหรือไม่ ที่เป็นเช่นนี้เพราะสารนิโคตินในบุหรี่ จะทำให้มีการเพิ่มช่องทางของเชื้อไวรัสในการเข้าสู่เซลล์ร่างกายเราได้มากขึ้นผ่าน ACE2 receptor ซึ่งในระยะแรกอาจเป็นประโยชน์ช่วยป้องกันการเกิดภยันตรายต่อเนื้อเยื่อปอด แต่เมื่อนานเข้าจนเกิดการเสียสมดุลกลับนำมาซึ่งการทำลายที่รุนแรงขึ้น นอกจากนี้นิโคตินยังมีฤทธิ์ส่งเสริมให้มีการหลั่งสารที่กระตุ้นการอักเสบของร่างกายที่มากเกินไป จนนอกจากจะทำลายตัวไวรัสแล้วยังทำอันตรายต่อเนื้อเยื่อของร่างกายเอง โดยเฉพาะการเกิดปอดอักเสบในระยะที่ภูมิต้านทานตอบสนองมากเกิน
การสูบบุหรี่อาจเป็นปัจจัยเสริมในการแพร่กระจายโรคได้ ถ้าผู้สูบบุหรี่ติดเชื้อโดยไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย มือที่สัมผัสมวนบุหรี่ขณะสูบจะปนเปื้อนด้วยเชื้อไวรัส ดังนั้นถ้ามีการรวมกลุ่มสังสรรค์กินเหล้าสูบบุหรี่สรวลเสเฮฮา จะทำให้มีการปนเปื้อนข้ามบุคคลได้ง่าย โดยเฉพาะที่เกิดจากการสูบบุหรี่มวนเดียวกัน แล้วแถมด้วยการกินเหล้าแก้วเดียวกันหรือชนแก้วกัน นอกจากนี้ระหว่างการสูบบุหรี่อาจมีการไอหรือจามได้ ซึ่งจะช่วยเร่งให้การแพร่เชื้อเกิดง่ายขึ้น เพราะขณะสูบบุหรี่และสังสรรค์คงไม่มีใครคาดหน้ากาก

บุหรี่กับโควิด-19
เป็นที่น่าเสียดายว่าการแยกรักษาดูอาการตัวเองที่บ้าน (home isolation) น่าจะเป็นโอกาสดีในการชักชวนให้คนหยุดสูบบุหรี่ แต่ในชีวิตจริงแล้วความเครียดและความวิตกกังวลต่อสุขภาพที่ถูกคุกคามจากโควิด รวมถึงปัญหาปากท้องและข้อขัดข้องทางกายภาพอื่นๆ ทำให้สภาพจิตใจย่ำแย่และหันไปใช้บุหรี่เป็นเครื่องปลดเปลื้องชั่วคราว ดังนั้นหน่วยงานด้านสุขภาพนอกจากจะต้องดูแลด้านกายแล้ว ควรต้องดูแลด้านจิตใจด้วยโดยเฉพาะรายที่ติดบุหรี่อยู่เดิมในระหว่างแยกกักตัวที่บ้าน

ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามรายงานตัวเลขสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทยวันที่ 29 สิงหาคม 64 จากศูนย์ข้อมูลโควิด-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า
ติดเชื้อเพิ่ม 16,536 ราย
ติดในระบบ 13,894 ราย
ติดจากตรวจเชิงรุก 2306 ราย
ติดในสถานกักตัว 8 ราย
ติดในเรือนจำ 328 ราย

สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19
สะสมละลอกที่สาม 1,145,228 ราย สะสมทั้งหมด 1,174,091 ราย
หายกลับบ้าน 20,927 ราย
สะสม 957,820 ราย
รักษาตัวอยู่ 177,702 ราย
โรงพยาบาลหลัก 15,573 ราย
โรงพยาบาลสนาม 78,692 ราย
แยกกักที่บ้าน 79,327 ราย
อาการหนัก 5093 ราย
ใช้เครื่องช่วยหายใจ 1067 ราย
ติดเชื้อเข้าข่าย 2607 ราย
สะสม 74,369 ราย
ตรวจ PCR วันละ 48,487 ตัวอย่าง
เสียชีวิต 264 ราย
สะสมระลอกที่สาม 11,049 ราย
สะสมทั้งหมด 11,143 ราย