“ทีดีอาร์ไอ” วิเคราะห์ 2 ปัจจัย ดึงเศรษฐกิจไทยพ้นปากเหว

18 ส.ค. 2564 | 01:30 น.

นักวิชาการ "ทีดีอาร์ไอ" วิเคราะห์ 2 ปัจจัย ที่จะสามารถดึงให้เศรษฐกิจไทยในสถานการณ์โควิดรุนเเรงให้พ้นปากเหวได้อย่างไร

เศรษฐกิจไทยจะพ้นปากเหวเมื่อไหร่ ? ดร.นณริฏ พิศลยบุตร” นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) บอกว่า สิ่งที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยพ้นปากเหวได้มี 2 ข้อ 

ข้อแรก ตอนนี้อยู่ในช่วงการแพร่ระบาดรุนแรงของโควิด-19 และน่าจะพีคสุดในเดือนกันยายนและจะค่อยๆลดระดับทั้งตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิต คาดว่าจะไปถึงไตรมาสที่ 1 ของปีหน้า แต่ถ้าภาครัฐต้องการทำให้ดีกว่านี้ทางเดียวก็คือไตรมาสที่ 3 ปีนี้ต้องล็อกดาวน์ แต่ต้องมีมาตรการเพื่อควบคุมการระบาดได้ดี เช่น อาจจะต้องยกระดับ TTI (Test-Trace-Isolate)  

ข้อที่สอง จะต้องล็อกดาวน์แบบมีเงื่อนไขก็คือภาคธุรกิจไหนที่มั่นใจ มีระบบระเบียบเริ่มอยู่กับโควิดสายพันธุ์เดลตาได้แล้ว แต่ควรจะมีคู่มือออกมาได้แล้วว่าการจะดีลกับสายพันธุ์นี้ได้อย่างไร และจะไปถึงขั้นตอนว่าจะให้ธุรกิจไหนเปิดได้ภายใต้เงื่อนไขที่พื้นฐานว่าประชาชนที่ฉีดวัคซีนครบสองเข็มทั้งครอบครัวแล้วก็อนุญาตให้ออกมาจับจ่ายใช้สอยได้ตามปกติ

หลังจากนั้นก็สามารถเพิ่มกิจกรรมที่ไม่เสี่ยงได้ แต่ถ้าภาครัฐยังไม่สามารถควบคุมได้ในไตรมาสที่ 3 นี้ ก็ต้องมีการออกมาตรการเยียวยาให้ตรงจุด ตรงเป้าหมาย

นอกจากนี้ยังกล่าวถึงกรณีสภาพัฒน์ฯ  แถลงตัวเลข GDP ไตรมาส 2 ของปี2564  ขยายตัว 7.5 % โดยรวมครึ่งปี เศรษฐกิจไทยปีนี้ปรับตัว 2.0 % ขณะที่ทั้งปี 2564 ปรับลดประมาณการจีดีพีใหม่ คาดการณ์อยู่ที่ 0.7-1.2% ช่วงคาดการณ์เดิม 1.5-2.5%

ดร.นณริฏ ระบุว่า วิธีประมาณการณ์มี 2 แนวทาง คือ ประเมินแบบที่คาดว่าจะเป็นจริงและการประเมินเพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจ ซึ่งเข้าใจว่าระยะหลังภาครัฐนำเสนอการพยากรณ์ตัวเลขเศรษฐกิจในแบบหลัง แต่โดยส่วนตัวมองว่าคือสิ่งที่เป็นไปได้ยาก เพราะถ้าไปดูการพยากรณ์จากแหล่งอื่น จะพบว่าถูกปรับลงมาต่ำที่สุดน่าจะติดลบแล้ว สูงสุดอยู่ที่ประมาณ 0.5 % แต่ก็สะท้อนว่าถ้ามีการปรับองคาพยพของภาครัฐจริงๆ ก็เชื่อว่าอาจจะสามารถทำได้แบบสภาพัฒน์ฯ ประมาณการณ์ไว้

ดร.นณริฏ เตือนว่า ถ้าดูเฉพาะไตรมาสนี้อัตราเติบโตสูง 7.5% อาจจะดูเพิ่มสูงขึ้นมาก ต้องบอกก่อนว่าเวลาดูอัตราการเติบโตเทียบในลักษณะที่เรียกว่าปีนี้เทียบกับปีที่แล้ว ในไตรมาสเดียวกัน

"ถ้าย้อนกลับไปดูว่าอะไรเกิดขึ้นในไตรมาสที่ 2  พบว่าปี 2563 ปีที่แล้ว หนักที่สุด เจอการแพร่ระบาดครั้งแรกในประเทศไทยที่ภาครัฐวางมาตรการล็อคดาวน์ 1 เดือนกว่าจะฟื้นตัวคนกล้าออกไปจับจ่ายใช้สอยก็ต้องเลยไปถึงไตรมาสที่3แล้วประกอบกับในช่วงนั้นเป็นช่วงแรกเหมือนกันที่ต่างประเทศก็หนัก จะเจอปัญหา เช่น ตัวเลขการส่งออกเป็นลดลงที่สุด แย่ที่สุด ภาคการท่องเที่ยวที่เคยมี 40,000,000 คนต่อปีไตรมาสนั้นแทบจะไม่มีเลยติดลบถึง 12% แต่ปีนี้ได้คืนมา 7.5% ก็ถือว่ายังไม่ได้กลับมาเท่าที่หายไป ตัวเลขดูดีเกินกว่าจะเป็น”

ดร.นณริฏ กล่าวถึงประเด็นที่ว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวในระดับใด เมื่อโมเมนตัมของการขยายตัวลดลงจากผลกระทบสถานการณ์โควิดระบาดหนักในวงกว้างตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา ว่า โมเมนตัมจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับปัจจัยภายในและภายนอก ปัจจัยภายใน

เช่น ภาคส่งออก ในไตรมาสที่ 4 เริ่มมีบางประเทศที่พัฒนาแล้วสามรถควบคุมสถานการณ์และเริ่มกลับมาเป็นปกติ มีการนำเข้าสินค้า ทำให้ไทยส่งออกได้และตัวเลขส่งออกก็เป็นโมเมนตัมที่ทำให้สามารถที่จะคงอัตราเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้ดี แต่พอมองไปข้างหน้าเริ่มมีคำถามเพราะเมื่อดูการติดเชื้อใหม่ของสหรัฐฯ และในยุโรป เริ่มมีการกลับมาจึงยังไม่แน่ใจ

ปัจจัยภายนอกที่สำคัญไทยมีความพยายามในการดึงนักท่องเที่ยวกลับมาต้องยอมรับว่าขณะนี่ไทยกระท่อนกระแท่น แต่ยังมีการพยายามเปิดตัวภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ สมุยพลัส ตัวเลขก็ออกมาค่อนข้างดี มีคนจองห้องหลักแสนห้อง แต่ถ้าเทียบคนมาเที่ยวอยู่ในหลัก 10,000 คน เต็มที่ทั้งปีก็อาจจะอยู่ที่ประมาณหลักแสน ถือว่ายังต่ำกว่า 40,000,000 คน ตรงนี้เป็นโมเมนตัมของภายนอกที่อาจจะยังไม่ค่อยดีนัก

โมเมนตัมภายในปัจจุบันไตรมาสที่ 3 ไทยยังล็อคดาวน์อยู่และยังไม่แน่ว่าจะสามารถควบคุมได้หรือไม่ ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังคงสูงต่อเนื่องและน่าจะพีคในช่วงเดือนกันยายน ซึ่งภาครัฐควรมีมาตรการเสริม เช่น อาจจะต้องยกระดับ TTI (Test-Trace-Isolate) และมาตรการ Home Isolation จะช่วยให้เดินกลับมาได้  นอกจากนี้อาจต้องผ่อนคลายมาตรการบางอย่าง เช่น อนุญาตให้ประชาชนที่ฉีดวัคซีนโควิดครบ 2 เข็ม ทั้งครอบครัวออกมาจับจ่ายใช้สอยเพื่อเป็นการไม่เสียโอกาส

“ถ้าในมุมมองของผมควรทิ้งไตรมาสที่ 3 ไปเลย ยอมรับว่ายังไงก็จะแย่ แต่ภาครัฐก็ต้องมีมาตรการเยียวยา แล้วค่อยมาดูไตรมาสที่ 4 จะคลายล็อคดาวน์ได้ไหม เพราะไตรมาสที่ 4 จะมีนัยยะสำคัญมากก็คือวัคซีนทั้งหลายที่จองมาและดีเลย์ พรีออร์เดอร์กันนานเหลือเกินมันจะมาในช่วงนี้ ตอนนั้นคิดว่าน่าจะเป็นจุดที่เหมาะว่า คนเริ่มมีวัคซีนก็ดี มีภูมิคุ้มกันปล่อยคนที่ฉีดก็ให้คนออกมาจับจ่ายใช้สอยก็น่าจะดีในระยะยาว”