หมอนิธิพัฒน์จวกนโยบายจัดสรรไฟเซอร์ตุกติกไม่ต่างการบริหารโควิดของรัฐบาล

10 ส.ค. 2564 | 01:14 น.

หมอนิธิพัฒน์ออกโรงสับนโยบายการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์อึมครึมงุบงิบไปมา เชื่องช้า ตุกติกไม่ต่างการบริหารสถานการร์โควิด-19 ของรัฐบาล

รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (นิธิพัฒน์ เจียรกุล) โดยมีข้อความระบุว่า 
ในเมื่อความเชื่อมั่นตั้งแต่ครั้งบริหารสถานการณ์โควิดระลอกแรก มันค่อยๆ สูญสิ้นไปจนแทบจะไม่มีเหลือในระลอกล่าสุดนี้ โดยเฉพาะนโยบายด้านวัคซีนที่เป๋ไปเป๋มาไม่ค่อยอยู่กับร่องกับรอย ทั้งที่ปรากฏการณ์บางอย่างจะอยู่นอกเหนือการควบคุม แต่ก็ไปฝืนพยายามจะควบคุมหรือบิดผันไปในทิศทางที่ไม่ถูกไม่ควร ที่สำคัญไม่เคยแสดงสปิริตยอมรับข้อผิดพลาดตามตรง ดังนั้นการจัดสรรวัคซีนเข็มสามของไฟเซอร์ให้บุคลากรทางการแพทย์เป็นกลุ่มแรกก่อน จึงยังคงวุ่นวายไม่รู้จบและมีคำถามมากมายเกิดขึ้นกับการกระทำของผู้มีอำนาจจัดสรร ทั้งที่เป็นเรื่องน่าจะพูดคุยกันได้ด้วยเหตุผลถึงที่มาที่ไป พร้อมนำเสนอแนวทางการบริหารจัดการให้เข้าใจได้โดยทั่วกัน แต่กลับปล่อยให้อึมครึมงุบงิบกันไปมา เหมือนการบริหารสถานการณ์โควิดในภาพรวมของภาครัฐ นี่แหละรัฐข้าราชการไทย เชื่องช้า วอกแวก ตุกติก
แม้ยอดผู้เสียชีวิตรายวันจะลดลง แต่ผู้ที่เสียชีวิตคาบ้านยังพบได้เกือบหนึ่งในห้าสาเหตุส่วนหนึ่งในรายที่ต้นทุนสุขภาพไม่ได้แย่มาก น่าจะเป็นผลจากการขาดออกซิเจนเพื่อพยุงการทำงานของอวัยวะสำคัญในร่างกาย มูลนิธิชัยพัฒนาจึงได้มีโครงการจัดหาเครื่องผลิตออกซิเจนจำนวนมาก เพื่อสนับสนุนให้กับหน่วยงานต่างๆ ที่ดูแลผู้ป่วยโควิดอยู่นอกโรงพยาบาลหลัก คงจะมีการเปิดตัวได้ในเร็วๆ นี้ เช่นเดียวกับโครงการต่อลมหายใจในศิริราชมูลนิธิ กำลังดำเนินการสั่งซื้อเครื่องผลิตออกซิเจนจากประเทศจีนจำนวน 1,000 เครื่อง เพื่อแจกจ่ายไปยังโรงพยาบาลร้อยกว่าแห่งทั่วประเทศที่แสดงความจำนงขอการสนับสนุนมา โดยหวังว่าจะช่วยบรรเทาอาการผู้ป่วยจำนวนหนึ่ง ทำให้ไม่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหลัก และยังอาจช่วยบรรเทาอาการขาดออกซิเจนชั่วคราวสำหรับผู้ป่วยรายอาการรุนแรง ที่กำลังรอการเคลื่อนย้ายเข้าสู่โรงพยาบาลหลัก

หมอนิธิพัฒน์และบุคลากรทางการแพทย์

วันนี้พอมีเวลาว่างจึงแวะไปเยี่ยมทีมปฏิบัติงาน Community Isolation ของศิริราชที่โรงเรียนวัดสุวรรณาราม เพื่อสอบถามความต้องการใช้เครื่องผลิตออกซิเจน ที่นี่เพิ่งเปิดตัวไปไม่กี่วันจึงยังมีผู้ป่วยจำนวนไม่มาก ระยะแรกรับแต่ผู้ป่วยในชุมชนที่ตั้งอยู่ก่อน เมื่อเข้าที่เข้าทางแล้วจึงจะขยายรับจากชุมชนอื่นในเขตบางกอกน้อยและใกล้เคียง ถึงเวลานั้นคงต้องจัดหาเครื่องผลิตออกซิเจนมาประจำไว้ให้ใช้งาน ถัดมาจึงไปแวะเยี่ยมทีมงาน Home Isolation ที่หน่วยบริการสุขภาพปฐมภูมิศิริราช ข้างวัดดาวดึงส์ ที่นี่เป็นกองบัญชาการใหญ่ของกลุ่มบุคลากรกว่าหลายสิบชีวิต ที่เริ่มปฏิบัติงานกันมาเกือบครบเดือน มีผู้ป่วยผ่านมือแล้วถึงวันนี้เกือบสองพันคน และได้ให้บริการเครื่องผลิตออกซิเจนไปแล้วบ้าง แต่ยังใช้บริการจากหน่วยงานอื่นภายนอกเป็นหลัก เพราะยังไม่มีเครื่องของตัวเองมากพอ ล่าสุดมีการจัดเตรียมของตัวเองบ้างแล้วและคงเปิดตัวในไม่ช้านี้ จึงได้วางแผนร่วมกันเพื่อจัดหาให้เพียงพอ พร้อมการจัดระบบนำออกไปใช้งานและการบำรุงรักษาหลังใช้งาน หวังว่าทีมงานที่แข็งแกร่งของทั้งสองจุดบริการนอกโรงพยาบาลที่แวะไปให้กำลังใจวันนี้ จะยืนหยัดฝ่าฟันงานหนักกันได้ต่อไปตลอดรอดฝั่ง ขอให้ทุกคนได้รับวัคซีนเข็มสามที่ใช่และตามที่ใจปรารถนา

ในช่วงเย็นได้มีการประชุมซักซ้อมความเข้าใจการใช้ยาเรมเดซสิเวียร์ ชึ่งภาครัฐได้จัดหามาได้มากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว สำหรับให้แพทย์มีเพียงพอใช้งานกับผู้ป่วยปอดอักเสบโควิดรุนแรงจนถึงวิกฤต พร้อมจัดวางระบบให้โรงพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศเข้าถึงยาได้ทันการใช้งานที่ต้องแข่งขันกับเวลา โดยมีชีวิตผู้ป่วยเป็นเดิมพัน
สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) วันที่ 10 สิงหาคม 64 "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามรายงานจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. พบว่า ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นรวม 19,843 ราย มาจาก ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 19,445 ราย ติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 398 ราย  ผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 767,088 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 235 ราย หายป่วยกลับบ้าน 20,806 ราย กำลังรักษา 211,223 ราย หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 550,714 ราย