PRINC ผนึก 6 องค์กรเอกชนเปิดรพ.สนามแสงแห่งใจ 450 เตียง

08 ส.ค. 2564 | 11:56 น.

PRINC ร่วมมือกับองค์กรเอกชน รวมพลังช่วยเหลือผู้ป่วยจากการระบาดของโควิด-19 เปิด “โรงพยาบาลสนามแสงแห่งใจ” วันที่ 9 สิงหาคม 2564 เพื่อรับผู้ป่วยระดับสีเขียวและเหลือง

นพ.อธิวัฒน์ น้อยประสิทธิ์ Chief Performance Coach, Risk and Quality Officer บริษัท พริ้นซิเพิลเฮลท์แคร์ จำกัด และผู้อำนวยการโรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ ในฐานะผู้อำนวยการโรงพยาบาลสนามแสงแห่งใจ เปิดเผยว่า การเปิดโรงพยาบาลสนามแสงแห่งใจ ถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะเป็นทั้งที่รักษาตัว และเป็นจุดที่ได้สื่อสารไปยังผู้ป่วยและครอบครัว ให้รู้สึกมีความหวัง เพราะการอยู่ด้วยความหวัง และกำลังใจนั้นเป็นเรื่องสำคัญที่ส่งผลดีต่อการรักษาผู้ป่วย รวมถึงสภาพจิตใจของคนในครอบครัวผู้ป่วยที่ต่างก็รอความหวังว่าญาติมิตรของเขามีโอกาสที่จะหายป่วย เมื่อรักษาตัวในโรงพยาบาลสนามแห่งนี้ 

 

อย่างไรก็ตาม การให้บริการทางการแพทย์ในโรงพยาบาลสนามแสงแห่งใจ จะมีทีมแพทย์เฉพาะทางและพยาบาลจากกลุ่มโรงพยาบาลพิษณุเวชได้แก่ รพ.พิษณุเวช พิษณุโลก รพ.พิษณุเวช พิจิตร และ รพ.พิษณุเวช อุตรดิตถ์ ซึ่งอยู่ในในเครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ ให้การดูแล ซึ่งในทางการแพทย์ที่รพ.สนาม จะใช้บุคลากรทางการแพทย์ที่คอยดูแล ทั้งหมดกว่า 50 ชีวิต มีห้องฉุกเฉิน รวมทั้ง Oxygen High flow Pipeline จำนวนมากถึง 76 เตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยที่มีแนวโน้มจะเป็นสีเหลือง-แดง ที่พร้อมในการดูแลผู้ป่วยวิกฤติในโรงพยาบาลสนาม และมีเตียงผู้ป่วยวิกฤตที่โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ ห่างเพียง 5 กิโลเมตร  ใช้เวลาเดินทางไม่ถึง 10 นาที

“โรงพยาบาลสนามแสงแห่งใจ พร้อมเปิดรับผู้ป่วยที่ลงทะเบียนผ่าน Website หรือ Call Center เท่านั้นโดยทางโรงพยาบาลได้ทำ Work Flow ให้มีความสะดวก รวดเร็ว ในการที่จะติดต่อประสานกับผู้ป่วยโดยกระบวนการคือ การลงทะเบียนจะเปิดรับลงทะเบียนในวันที่ 7 สิงหาคม เป็นต้นไป เมื่อลงทะเบียนแล้ว ข้อมูลผู้ป่วยจะถูกส่งเข้าไปที่ Assessment Center เพื่อประเมินอาการ โดยหากเข้าข่าย Home Isolation ทางโรงพยาบาลจะรับเข้าเป็นผู้อยู่ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาล ตามกระบวนการของ Home Isolation หากเข้าข่ายที่จะรับเข้าโรงพยาบาลสนามได้ จะมีทีมงานประสานในการรับการส่งตัวผู้ป่วย เพื่อเช็คอินเข้าโรงพยาบาลสนาม หรือส่งต่อฮอสปิเทล แต่หากมีอาการที่ค่อนข้างหนัก จะพิจารณารับเข้าก็รับการรักษาที่โรงพยาบาลหรือส่งต่อโรงพยาบาลเครือข่าย"

 

ขณะเดียวกัน หลักการพิจารณาการจะใช้เรียงตามลำดับผู้ที่ลงทะเบียนเข้ามาตามระบบ โดยจะต้องแนบผลการตรวจมาด้วย โดยเมื่อเปิดแล้วโรงพยาบาลคาดว่า รับผู้ป่วยได้เต็มภายใน 4- 5 วันแรก และจากนั้นจะมีการหมุนเวียนตามจำนวนผู้ป่วยที่ได้กลับบ้าน นอกจากนี้ทางโรงพยาบาลสนามนี้ได้นำหุ่นยนต์ปิ่นโต มาช่วยในการบริการและใช้ Application ไข่ต้ม แคร์ (Kaitomm Care) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลผู้ป่วย และเพิ่มความปลอดภัยของบุคคลากรทางการแพทย์อีกด้วย

นายวิสิษฐ์ มาลัยศิริรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่นจำกัด (MQDC) ตัวแทนกลุ่มองค์กรผู้ก่อตั้ง "โรงพยาบาลสนามแสงแห่งใจ" กล่าวว่า ภาคเอกชนได้ร่วมกันจัดตั้งโรงพยาบาลสนามขนาด 450 เตียง ขึ้นมาพร้อมรับผู้ป่วยระดับสีเขียวและสีเหลือง โดยใช้ชื่อว่า"โรงพยาบาลแสงแห่งใจ" เกิดจากแนวคิดที่ว่า พวกเราทุกคน ต้องช่วยกัน จุดแสงสว่าง คนละเล็กคนละน้อย เพื่อจุดประกายความหวังให้ประเทศไทย เดินก้าวผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้ รวมถึงเพื่อสะท้อนถึงความตั้งใจ ของผู้ก่อตั้งทั้ง 7 องค์กร ที่อยากเสริมสร้างวัฒนธรรมดีๆ ให้คนไทยทุกภาคส่วน ร่วมกันแก้ไขปัญหา ซึ่งสื่อถึงแสงสว่างที่ออกมาจากใจของผู้ให้ และ แสงสว่างที่เป็นเสมือนความหวังในใจของผู้ที่ทุกข์ใจ

 

สำหรับผู้เริ่มก่อตั้ง 7 องค์กร ได้แก่ โรงพยาบาลในเครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์, MQDC, อีอีซี เอ็นจิเนียริ่งเน็ทเวิร์ค, ทีแอนด์บี มีเดีย โกลบอล  และมูลนิธิธนินท์ เทวี เจียรวนนท์, มูลนิธิอริยวรารมย์, มูลนิธิพุทธรักษา  ได้ขยายมามีพันธมิตรและผู้สนับสนุนกว่า 30 องค์กร อาทิ มูลนิธิเอสซีจี (SCG) ได้ให้การสนับสนุนเตียงกระดาษจำนวน 600 เตียง และยังมีอุปกรณ์ก่อสร้างอื่นๆ

ทาง CP และ MK ให้การสนับสนุนด้านอาหารผู้ป่วย และบุคลากรทางการแพทย์ตลอดระยะเวลา 4 เดือนรวมถึงทาง TRUE ที่ได้จัด WIFI เพื่อให้ผู้ป่วยได้ใช้ในระหว่างการรักษาพยาบาล