"ซูเปอร์โพล"ชี้นาทีทองนายกฯต้องปฏิรูปเชิงปฏิบัติการระบบราชการ

08 ส.ค. 2564 | 10:18 น.

ซูเปอร์โพลชี้นาทีทองนายกรัฐมนตรีต้องปฏิรูปเชิงปฏิบัติการของระบบราชการให้สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนที่เกี่ยวข้องกับความเป็นความตายจากการติดเชื้อโควิด-19

นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL)เปิดเผยถึงผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง ความต้องการของประชาชน กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศโดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,117 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 5 – 7 สิงหาคม 64 ว่า กลุ่มประชาชนที่ได้รับวัคซีนแล้วมีสัดส่วนของคนที่สนับสนุนรัฐบาล มากกว่า กลุ่มประชาชนที่ยังไม่ได้รับวัคซีน 29.2%  เทียบกับ 10.8% ในขณะที่กลุ่มประชาชนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนมีสัดส่วนของคนที่ไม่สนับสนุนรัฐบาลมากกว่ากลุ่มประชาชนที่ได้รับวัคซีนแล้วคือ 44.7% เทียบกับ 24.1% โดยกลุ่มพลังเงียบมีสัดส่วนไม่แตกต่างกันระหว่างกลุ่มประชาชนที่รับวัคซีนแล้ว 46.7% เทียบกับ 44.5% ในกลุ่มประชาชนที่ยังไม่ได้รับวัคซีน
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงความต้องการความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐในช่วงก่อนติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) ระดับมากถึงมากที่สุด พบว่า ส่วนใหญ่หรือ 76.4% ต้องการให้มีการเผยแพร่ ตัวอย่างที่ดีในการบริหารจัดการรับมือการแพร่ระบาดโควิด-19 ให้รู้กว้างขวางในหมู่ประชาชนและชุมชน ส่วนใหญ่หรือ 72.6% ต้องการให้ ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด (ศบค.) ประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลความรู้แก่ประชาชนรับมือโควิด-19 ในทุกมิติ เช่น การป้องกัน การเข้าถึงกระบวนการรักษา การกักตัว การพักฟื้น เป็นต้น 66.7% ต้องการให้รัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงสาธารณสุข ช่วยหาชุดตรวจโควิดฟรี หรือ ควบคุมราคาชุดตรวจโควิดให้ถูกลง ประชาชนทั่วไปหาซื้อใช้เองได้ง่าย เมื่อรู้ว่าติดเชื้อจะได้แยกตัวเองออกจากผู้อื่น ลดการระบาด และ 64.7% ต้องการจะรู้ว่า ตัวเอง ติดเชื้อโควิดหรือไม่
ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือ 77.4% ระบุ เมื่อประชาชนพบว่าติดเชื้อ ต้องการให้ทุกหน่วยงานรัฐ เช่น กระทรวงสาธารณสุข มหาดไทย กรุงเทพมหานคร (กทม.) ควรมีมาตรการรับผู้ป่วยเข้าสู่กระบวนการรักษาเต็มรูปแบบทันที มากกว่าปล่อยให้ประชาชนผู้ติดเชื้อรักษาเองเพียงลำพังจนอาการหนักเกิดการสูญเสีย ส่วนใหญ่หรือ 75.4% ต้องการให้รัฐบาลและหน่วยงานรัฐ เช่น กระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข ปลดล็อค ระเบียบ กฎเกณฑ์ที่สะกัดกั้นการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อ เช่น การส่งชุดยาสมุนไพรและยาแผนปัจจุบันเข้าช่วยเหลือผู้ป่วยติดเชื้อในเรือนจำ การทำงานของข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ 24 ชั่วโมงในการช่วยเหลือผู้ป่วยติดเชื้อ

นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือ 71.1% ต้องการให้ กระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข กองทัพ และมหาดไทย แก้ปัญหาในทุกมิติของการนำผู้ป่วยกลับภูมิลำเนา เช่น การรับแจ้งศูนย์ต่าง ๆ (Call Center) ให้เปิดรับ 24 ชั่วโมง มีการประเมินผลงานของเจ้าหน้าที่ ความรวดเร็วเรื่องยานพาหนะนำผู้ป่วยกลับภูมิลำเนา การนำผู้ป่วยเข้าสู่กระบวนการรักษาโดยเร็วที่สุด 70.3% ต้องการให้กระทรวงสาธารณสุขพิจารณาให้โรงพยาบาลสนามยอมรับผลตรวจโควิดด้วยตนเองให้เข้ารับการรักษา ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายซ้ำซ้อนของประชาชนที่ต้องเดินทางและหาที่ตรวจโควิดที่ออกเอกสารได้ ซ้ำเติมวิกฤตการเงินของประชาชน 69.5% ต้องการให้แก้ปัญหาช่องว่าง ระหว่างหน่วยงานรัฐและภาคประชาชนในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ไม่มีการบูรณาการที่ดีช่วยเหลือประชาชน ขาดการยึดโยงต่อกันในการป้องกันและรักษา แต่ละกลุ่มแต่ละหน่วยไปคนละทิศคนละทาง

ความต้องการของประชาชน
อย่างไรก็ดี ส่วนใหญ่หรือ 64.4% ต้องการให้ มีรถนำส่งผู้ป่วยที่ปลอดภัย ป้องกันการติดเชื้อ และส่วนใหญ่หรือ 63.8% ต้องการให้แก้ปัญหาผู้ป่วยในพื้นที่เฉพาะแบบครบวงจร เช่น ประชาชนบนเกาะ และพื้นที่ห้ามเข้าออก ทำให้ขาดการช่วยเหลือการรักษาที่ดี
ผลการศึกษาครั้งนี้ทำให้เห็นโอกาสและความเป็นไปได้ในนาทีทองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่จะทำให้ประชาชนทั้งประเทศล้มแล้วลุกทันทีด้วยการปฏิรูปเชิงปฏิบัติการของระบบราชการให้สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนที่เกี่ยวข้องกับความเป็นความตายจากการติดเชื้อโควิด-19 โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วนสำคัญได้แก่ ก่อนการติดเชื้อโควิด-19 และหลังการติดเชื้อโควิด-19 ที่ต้องการให้หน่วยงานรัฐปฏิรูปการตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างรวดเร็วฉับไวและให้ได้ผลเป็นที่น่าพึงพอใจของประชาชนทั้งประเทศ
นายนพดล กล่าวอีกว่า การที่ประชาชนรู้ตัวเองว่าติดเชื้อโควิด-19 คือต้นน้ำและหัวใจของการควบคุมโรคโดยประเทศที่พัฒนาแล้วจะปฏิบัติกันด้วยยุทธศาสตร์ที่ดีมีข้อมูลที่ดีของการตรวจคัดกรองแยกคนติดเชื้อออกจากคนที่ไม่ติดเชื้อในพื้นที่เฉพาะทันที ดังนั้น กรุงเทพมหานคร (กทม.) และหัวเมืองใหญ่ของประเทศเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่ต้องเพิ่มจุดตรวจคัดกรองให้ครอบคลุมและทำให้ประชาชนเข้าถึงชุดตรวจโควิด-19 ด้วยตนเองได้ฟรีหรือราคาถูกลง ทำให้ชาวบ้านเข้าถึงได้โดยง่ายตามร้านขายยาและสถานพยาบาลในชุมชนต่าง ๆ ที่ปัจจุบันมีราคาสูงถึง 300 – 400 บาทต่อชิ้นตรวจ
กทม. เป็นเมืองหลวงใกล้ศูนย์รวมอำนาจบริหารจัดการประเทศแต่กลับเปราะบางที่สุดโดยเฉพาะชุมชนแออัดหรือเรียกว่าเป็นพื้นที่ที่เสียงคนจนเมืองที่รัฐบาลอาจจะไม่ได้ยิน ในต่างประเทศจะให้ความสำคัญเพ่งเล็งเป็นพิเศษเพราะอาจจะมีความหนาแน่นของกลุ่มคนที่ไม่มีอะไรเหลือที่จะเสีย (A group with nothing to lose) ทำให้ปรากฏออกมาบนท้องถนนด้วยอารมณ์รุนแรง ถ้าประชาชนกลุ่มนี้ไม่มีวัฒนธรรมไทยยึดโยงไว้บ้านเมืองจะควบคุมยากกว่าที่เป็นอยู่นี้
สำหรับทางแก้คือ การเชื่อมโยงปลดล็อคกำแพงขวางกั้นระหว่างอำนาจรัฐ (State Power) กับ พลังอาสาสมัครภาคประชาชน (Non-State Power) และทีมแพทย์ชนบทที่พวกเขาได้ยินเสียงแห่งความทุกข์ยากเดือดร้อนของประชาชนในชุมชนแออัด จึงต้องเชื่อมประสานทุกส่วนราชการกับกลุ่มอาสาสมัครภาคประชาชน ปลดล็อคระเบียบกฎเกณฑ์ ระบบราชการ ให้สามารถกระจายความช่วยเหลือต่าง ๆ เข้าถึงทุกกลุ่มครอบคลุมเป้าหมาย เช่น การเข้าถึงจุดตรวจคัดกรองและชุดตรวจโควิด-19 ได้ง่าย ระบบการรักษาแบบครบวงจรทั้งการลำเลียงผู้ป่วยเข้าสู่กระบวนการรักษาด้วยชุดยาสมุนไพรไทยและแผนปัจจุบัน ชุดอาหารประจำวัน กระจายครอบคลุมพื้นที่ด้วยความรวดเร็วฉับไวและได้ผลดีมีประสิทธิภาพ

นางจุฬารัตน์ นิรัติศยกุล นักวิชาการอิสระด้านการเกษตรและการพัฒนาที่ยั่งยืน กล่าวว่า เวลานี้การแก้ปัญหาโควิดที่มีพลังที่สุดกลับไปอยู่ที่ภาคประชาชนซึ่งรวมถึงทีมแพทย์ชนบทบุกเข้ากรุง ครั้งที่ 3 เพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อพบให้เร็วเพื่อรักษาจ่ายยาให้เร็วและนำเข้าระบบกักตัวจะได้ลดอัตราป่วยหนักที่ต้องการเตียงโรงพยาบาลทุกคนมาด้วยพลังและความมุ่งมั่นลงปฏิบัติการทั่วกรุงเพราะไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาทำงาน ไม่มีกฎระเบียบขั้นตอนการจ่ายยาแต่มีจิตใจที่มุ่งมั่นทุ่มเทเพื่อช่วยเหลือเอื้อเฟื้อกันละกัน
มีข้อเสนอเร่งด่วน จากมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และเครือข่ายภาคประชาชน ให้มีการจัดตั้งกองกำลังอาสาสมัครภาคประชาชนทั่วประเทศ มีศูนย์ต่อสู่โควิดประจำอำเภอที่รัฐร่วมมือกับประชาชน หรือภาคประชาสังคม และต้องปลดล็อค กฎ ระเบียบ พร้อมทั้งเร่งรัด ให้ความรู้ เพื่อให้การแยกกัก คัดกรอง และรักษาผู้ติดเชื้อ และผู้ป่วยที่บ้านและชุมชน ( Community and home isolation ) มีความพร้อม ทั้งนี้ รัฐต้องสนับสนุนเต็มที่ และที่สำคัญ ต้องมีระบบส่งต่อที่รวดเร็ว
“วิกฤตคราวนี้ รัฐ ต้องเปิดใจ ยอมรับให้การใช้สมุนไพร เข้ามามีบทบาทในการป้องกัน และรักษาผู้ป่วยโควิด ซึ่งมีตัวอย่างความสำเร็จของการใช้สมุนไพรรักษาผู้ติดเชื้อโควิด และป้องกันไม่ให้เกิดการติดต่อของโควิด ทั้งในระบบการกักตัวที่ชุมชน และการกักตัวที่บ้านในหลายพื้นที่ ทั้งนี้ หลายท่านอาจไม่ทราบว่า สมุนไพรที่ใช้ต้มยาเป็นสมุนไพรปลอดภัย ที่ปลูกโดยไม่ใช้เคมี เป็นสมุนไพรจากเครือข่ายโคก หนอง นาที่มีรากฐานจากการน้อมนำศาสตร์พระราชาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหนทางให้คนไทยสามารถบริหารจัดการตนเองในภาวะวิกฤติ”