โควิดกทม. รวมแผน ผู้ว่าฯ ยกระดับ รับมือ วิกฤติเดือนส.ค. ยอดผู้ป่วยพุ่ง

07 ส.ค. 2564 | 06:34 น.

สถานการณ์ติดเชื้อโควิด19 กทม.น่าห่วง พีคสุดคาดการณ์ ล็อกดาวน์ไม่เข้มข้น ยอดพุ่งเดือนสิงหาคม - กันยายน ขณะผู้ว่าฯ ยกระดับมาตรการ ดูแลผู้ป่วยโควิด เตรียมพร้อม จุดตรวจคัดกรองเชิงรุก - ศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ - โรงพยาบาลสนาม และวางแผนฉีดวัคซีน กทม. 7.5 แสนโดส

7 สิงหาคม 2564 -  จากกรณี นายแพทย์ รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ระบุถึง สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ของทั่วโลก และในประเทศไทย ว่าแนวโน้มระบาดรุนแรงขึ้น ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์แบบจำลองคณิตศาสตร์ SEIR พบหากไม่มีการล็อกดาวน์อย่างเข้มข้น ยอดผู้ติดเชื้อใหม่ จะเพิ่มสูงขึ้นมาก น่ากังวลตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นไป ขณะ ประเมิน ผู้ติดเชื้อรายใหม่ อาจเกิน 4 หมื่นรายต่อวัน สูงสุดช่วงวันที่ 14 กันยายน 2564 และอาจได้เห็นยอดผู้เสียชีวิตมากกว่า 500 รายต่อวันนั้น 

โควิดกทม. รวมแผน ผู้ว่าฯ ยกระดับ รับมือ วิกฤติเดือนส.ค. ยอดผู้ป่วยพุ่ง ล่าสุด พล.ต.อ.อัศวิน  ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุข ได้ประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในประเทศไทยเดือน ส.ค.นี้ ว่าจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุด ในส่วนของกรุงเทพมหานครวานนี้ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงถึง 4,000 กว่าราย ส่วนหนึ่ง มาจากการเร่งค้นหาผู้ป่วยโดยกรุงเทพมหานครตรวจคัดกรองผู้ป่วยเชิงรุกอย่างต่อเนื่องและทั่วถึงยิ่งขึ้น ตามรายงานสำหรับยอดผู้ติดเชื้อใหม่สะสมของกรุงเทพมหานคร อยู่ที่  174,689 ราย 

 

เปิดจุดตรวจเชิงรุก 6 จุด ใน 6 พื้นที่กลุ่มเขต เริ่ม 7 ส.ค.

1.กลุ่มกรุงเทพกลาง ณ ลานกีฬาพัฒน์ 2 ถนนพระราม 6 เขตราชเทวี ให้บริการ 500 คนต่อวัน จองคิววันต่อวันหน้าจุดตรวจตั้งแต่เวลา 06.30 น. โทร.0 2354 4212

2.กลุ่มกรุงเทพเหนือ ณ ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ ให้บริการ 1,000 คนต่อวัน จองคิววันต่อวันหน้าจุดตรวจตั้งแต่เวลา 07.00 น. โทร.0 2982 2081-2

3.กลุ่มกรุงเทพตะวันออก ณ สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา เขตมีนบุรี ให้บริการ 700 คนต่อวัน จองคิววันต่อวันหน้าจุดตรวจตั้งแต่เวลา 06.00 น. โทร.0 2836 9999 ต่อ 3621,3622


4.กลุ่มกรุงเทพใต้ ณ ศูนย์สร้างสุขทุกวัย สวนลุมพินี เขตปทุมวัน ให้บริการ 500 คนต่อวัน จองคิวล่วงหน้า 1 วัน ผ่าน App “QueQ” ตั้งแต่เวลา 07.00 น. โทร.0 2214 1044

5.กลุ่มกรุงธนเหนือ ณ ใต้สะพานพระราม 8 เขตบางพลัด ให้บริการ 400 คนต่อวัน จองคิวล่วงหน้า 1 วัน ผ่าน App “QueQ” 200 คิว ตั้งแต่เวลา 08.00 น. และจองคิววันต่อวันหน้าจุดตรวจ 200 คิว ตั้งแต่เวลา 07.30 น. โทร.0 2424 0056 ต่อ 5657

6.กลุ่มกรุงธนใต้ ณ ตลาดบางแคภิรมย์ เขตบางแค ให้บริการ 600 คนต่อวัน จองคิววันต่อวันหน้าจุดตรวจ ตั้งแต่เวลา 08.00 น. โทร.0 2415 0157

โควิดกทม. รวมแผน ผู้ว่าฯ ยกระดับ รับมือ วิกฤติเดือนส.ค. ยอดผู้ป่วยพุ่ง
 

รวมถึงการตรวจ ณ ศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ และการลงพื้นที่ในชุมชนโดยทีม CCRT ของสำนักอนามัย อย่างไรก็ตามคาดว่าในช่วงเดือนส.ค.นี้ ขณะที่ รพ.ในกทม. ทุกแห่งเพิ่มศักยภาพเตียงเตรียมการรองรับผู้ป่วยระดับเหลืองและแดง รวมทั้งการเพิ่มศูนย์พักคอยให้ได้มากที่สุดทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ


สำหรับมาตรการรองรับผู้ติดเชื้อในขณะนี้ ศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ(Community Isolation : CI) ที่ดำเนินการโดยกรุงเทพมหานครมีทั้งหมดจำนวน 65 แห่ง เปิดให้บริการแล้ว 48 แห่ง จำนวนเตียงที่สามารถรองรับผู้ป่วย ได้ 8,625 เตียง  โดยใช้ทั้งอาคารของภาครัฐ หน่วยงานต่างๆ รวมทั้งได้ใช้อาคารของโรงเรียนเป็นศูนย์พักคอยหลายแห่ง  อาทิ  โรงเรียนวัดสุวรรณารามวิทยาคม เขตบางกอกน้อย และโรงเรียนบางยี่ขันวิทยาคม เขตบางพลัด 

 

รวมทั้งได้มีการยกระดับศูนย์พักคอย ให้เป็นกึ่งโรงพยาบาลสนาม หรือเป็น CI PLUS โดยติดตั้งอุปกรณ์ช่วยเหลือให้มากขึ้นเพื่อให้สามารถดูแลผู้ป่วยที่มีอาการ หรือผู้ป่วยสีเหลือง ได้ 7 แห่ง รองรับผู้ป่วย จำนวน 1,036 เตียง 

 

ศูนย์พักคอยกึ่งโรงพยาบาลสนาม 7 แห่ง  มีดังนี้ 

1. ศูนย์สร้างสุขทุกวัยจตุจักร เขตจตุจักร 120 เตียง 
2. อาคารวิทยาลัยเทคโนโลยีพาณิชยการเจ้าพระยา เขตราชเทวี 170 เตียง 
3. วัดสุทธิวราราม เขตสาทร 106 เตียง 
4. ร้านจงกั๋วเหยียน เขตลาดกระบัง 200 เตียง 
5. ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา เขตมีนบุรี 200 เตียง 
6. วัดศรีสุดาราม (อาคารศาลาวิจิตร รัตนศิริ วิไล) เขตบางกอกน้อย 90 เตียง  
7. ศูนย์สร้างสุขทุกวัยบางแค (เรืองสอน) เขตบางแค 150 เตียง 

โควิดกทม. รวมแผน ผู้ว่าฯ ยกระดับ รับมือ วิกฤติเดือนส.ค. ยอดผู้ป่วยพุ่ง นอกจากนี้กรุงเทพมหานครยังได้รับความร่วมมือจากภาคประชาสังคมในการร่วมจัดตั้งศูนย์พักคอยในลักษณะ Semi-Community Isolation ขนาดเล็ก อีกจำนวน 19 แห่ง รับผู้ป่วยได้ 452 เตียง และศูนย์พักคอยซึ่งดูแลโดยชุมชนเอง 2 แห่ง ในพื้นที่กลุ่มเขตกรุงธนใต้ รองรับผู้ป่วยได้ 660 เตียง ซึ่งในอนาคตกรุงเทพมหานครจะขยายแนวคิดนี้ไปสู่ชุมชนอื่นที่มีความพร้อมต่อไป
 

กทม. เปิดแผนฉีดวัคซีนโควิด  4 สัปดาห์ 7.5 แสนโดส

 

ส่วนความคืบหน้าการฉีดวัคซีนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ณ  “หน่วยความร่วมมือกรุงเทพมหานคร – หอการค้าไทย” ในเดือน ส.ค.นี้ จะได้วัคซีน จำนวน 750,000 โดส โดย สธ. จะทยอยแบ่งส่งให้ทุกสัปดาห์ คือ สัปดาห์ที่ 1-3 จัดส่งสัปดาห์ละ 175,000 โดส และสัปดาห์ที่ 4 จัดส่ง 225,000 โดส 

 

ซึ่งกรุงเทพมหานครจะจัดฉีดให้แก่ 3 กลุ่มหลัก คือ ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่ลงทะเบียนผ่านโครงการไทยร่วมใจฯ ในคิวเดิมที่เลื่อนตามลำดับต่อไป  

  • ส่วนของวัคซีนอีกจำนวน 500,000 โดส ที่กำลังทยอยมาจะนำไปใช้โรงพยาบาลสำหรับผู้ที่ลงทะเบียนผ่านหมอพร้อม และสำรองสำหรับเข็มที่สอง รวมถึงใช้ควบคุมเชิงรุกในการลงพื้นที่ของทีม CCRT และเตรียมไว้สำหรับการควบคุมโรคหากเกิดการระบาดเป็นคลัสเตอร์ 
  • ในขณะนี้พบว่าประชาชนในกลุ่มผู้สูงอายุติดขัดปัญหาการลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ แต่สะดวกในลงทะเบียนผ่านทางโทรศัพท์มากกว่า 
  • กรุงเทพมหานครจึงปรับเปลี่ยนเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้สูงอายุ โดยร่วมกับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสเปิดสายด่วนให้ผู้สูงอายุแจ้งความประสงค์รับวัคซีนผ่านทางหมายเลข 0 2790 2855 (40 คู่สาย) 
  • ส่วนผู้ที่ตั้งครรภ์สามารถ Walk-in เพื่อเข้ารับวัคซีนได้ ณ หน่วยความร่วมมือฯ 12 จุด 
  • สามารถตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางเฟสบุคเพจ “ไทยร่วมใจ กรุงเทพฯปลอดภัย”

โควิดกทม. รวมแผน ผู้ว่าฯ ยกระดับ รับมือ วิกฤติเดือนส.ค. ยอดผู้ป่วยพุ่ง ​​​​​​​