มทร.อีสาน จับมือ หัวเว่ย พัฒนาคน Digital Transformation ครบวงจร

01 ส.ค. 2564 | 12:19 น.

มทร.อีสาน จับมือ หัวเว่ย พัฒนาบุคลากรดิจิทัลที่มีทักษะระดับสูง มุ่งเป้านักศึกษา คณาจารย์ 9 มทร. ให้มีทักษะความสามารถในการสร้าง Mobile Application ด้วยตนเอง พร้อมสนับสนุนให้นำไปเผยแพร่ใน Huawei App Gallery และ Android Play Store และส่งเข้าประกวด Start Up ระดับ ประเทศ

รองศาสตราจารย์ ดร.โฆษิต ศรีภูธร ประธานคณะกรรมการพัฒนาบุคลากรดิจิทัล การสร้างและพัฒนา Application ผ่านระบบออนไลน์ 9 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) และรักษาราชการแทนอธิการมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากการลงนามความร่วมมือทางวิชาการ MOU ระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ร่วมกับบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ในการขับเคลื่อนและพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัล การทำการเกษตรแบบอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยี IOT การพัฒนาด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อความปลอดภัยและการเข้าถึงการรักษา ภายใต้ชื่อ “RMUTI NEXT GEN DIGITAL UNIVERSITY” 

มทร.อีสาน จับมือ หัวเว่ย พัฒนาคน Digital Transformation ครบวงจร

นโยบายการขับเคลื่อนดังกล่าว มาจาก ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ประธานที่ประชุมนายกสภา 9 มทร. และนายกสภา มทร.อีสาน เพื่อผนึกกำลังด้านการนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อปฏิรูปและปรับปรุงระบบการศึกษา ควบคู่กับการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมความยั่งยืนและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และยังมีเป้าหมายในการพัฒนากำลังคนทั้งบุคลากร และนักศึกษาทั้ง 9 มทร. 

ผลจากการประชุมนายกสภา 9 มทร. เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2564  มีมติเห็นชอบร่วมกันให้ดำเนินการและแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาบุคลากรดิจิทัล การสร้างและพัฒนา Application ผ่านระบบออนไลน์ 9 มทร. และมีมติให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้ง 9 แห่ง ร่วมกันดำเนินการฝึกอบรมหลักสูตร การสร้างและพัฒนา Mobile Application ผ่านห้องฝึกอบรมออนไลน์ ภายใต้หลักสูตรพัฒนาฝีมือด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ที่เน้นการพัฒนาทักษะแรงงาน

มทร.อีสาน จับมือ หัวเว่ย พัฒนาคน Digital Transformation ครบวงจร

รวมไปถึงการสร้างทักษะใหม่ที่จำเป็นในการทำงาน (Reskill) และการยกระดับทักษะเดิมให้ดียิ่งขึ้น (Upskill) เพื่อให้มั่นใจว่า ประเทศไทยพร้อมตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงาน พัฒนาด้านดิจิทัลให้บุคลากร นักศึกษา ศิษย์เก่าให้แข็งแกร่ง เพิ่มจำนวนแรงงานที่มีทักษะสูงให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) โดยให้ มทร.อีสาน เป็นเจ้าภาพหลักในคณะกรรมการพัฒนาบุคลากรดิจิทัล การสร้างและพัฒนา Application ผ่านระบบออนไลน์ 9 มทร.

ส่วนรูปแบบการอบรม จะเริ่มตั้งแต่การฝึกความคิดริเริ่มของผู้ฝึกสอนตั้งแต่ต้นและขยายไปสู่วงกว้าง หลักสูตรนี้จะเป็นการจัดคอร์สสอน 4 วันที่เป็นช่วงของวันหยุดสุดสัปดาห์ เป็นการสอนผ่านระบบ Huawei Mobile Services  ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาและเผยแพร่แอปพลิเคชันทั้งด้านทฤษฎีและการลงมือปฏิบัติ ตัวอย่างการอ่านโค้ดและลงมือปฏิบัติงานที่มอบหมาย โดยจะมีวิดีโอการฝึกอบรมไลบรารี่ให้ดูเป็นแนวทางซึ่งเป็นเนื้อหาฟรี ครอบคลุมพื้นฐานของ Android รวมถึง แอปพลิเคชั่นตัวอย่างต่างๆ ของหัวเว่ย มากกว่า 18 หมวดที่ครอบคลุมไปถึงเกม การศึกษา ไลฟ์สไตล์ แฟชั่น ภายหลังการอบรมและการสอบ ผู้อบรมจะได้ใบรับรองหัวเว่ย ประเทศไทย อีกด้วย  

มทร.อีสาน จับมือ หัวเว่ย พัฒนาคน Digital Transformation ครบวงจร

มทร.อีสาน มุ่งเน้นการพัฒนามหาวิทยาลัยให้เกิดเอกลักษณ์ “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งการสร้างอาชีพเฉพาะทาง" พร้อมการพัฒนาทั้งด้านกำลังคนและเทคโนโลยีเพื่อให้ นักศึกษา คณาจารย์ ทั้ง 9 มทร. มีความรู้ความสามารถในการสร้างและพัฒนาเทคโนโลยีด้วยตนเอง เพื่อเป็นตอบโจทย์การพัฒนาเทคโนโลยีระดับประเทศ พร้อมมุ่งให้เกิดประโยชน์อันสูงสุดแก่นักศึกษา และสร้างบัณฑิตนักปฏิบัติ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของการพัฒนาประเทศ